คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกทรายเกินน้ำหนักอัตราที่กำหนดเป็นการใช้รถยนต์กระทำผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ไม่บัญญัติให้ริบรถยนต์ ก็ริบได้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ไม่ริบรถยนต์โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าริบไม่ได้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าริบได้แต่ไม่ควรริบ จำเลยฎีกาได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท ตามป.ว. 295 ข้อ 56, 83 รถยนต์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ทำผิด ไม่ริบศาลอุทธรณ์เห็นว่าริบรถยนต์ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 แต่ยังไม่สมควรริบ พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาว่าจำเลยถูกฟ้องเพียงข้อหาว่า จำเลยฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งห้ามบรรทุกสิ่งของเกินอัตราที่กำหนด และคำสั่งของคณะปฏิวัติได้บัญญัติเรื่องของกลางโดยเฉพาะ จะถือว่ารถยนต์ของกลาง เป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ไม่ได้ เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจขับรถยนต์ของกลางบรรทุกทรายน้ำหนักเกินอัตราที่กำหนดไป 12,500 กิโลกรัม เดินบนทางหลวงหมายเลข 3112 (ถนนสายปทุมธานี – ลาดหลุมแก้ว) ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 56, 83 และสั่งริบรถยนต์ของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ด้วย แสดงว่าจำเลยฝ่าฝืนกฎหมาย โดยการนำรถยนต์ของกลางบรรทุกทรายน้ำหนักเกินอัตราที่กำหนดไป 12,500 กิโลกรัมมาใช้กระทำผิด กรณีมิใช่จำเลยถูกฟ้องเพียงข้อหาว่าจำเลยฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งห้ามบรรทุกสิ่งของเกินกว่าอัตราที่กำหนดเท่านั้นไม่เมื่อจำเลยรับสารภาพว่ากระทำผิดตามฟ้อง รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้กระทำผิด แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 มิได้บัญญัติถึงรถยนต์ของกลางที่ใช้กระทำผิดไว้โดยเฉพาะ ก็เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไป โจทก์ขอให้สั่งริบได้ และอยู่ในดุลพินิจของศาลจะริบหรือไม่ก็ได้”

พิพากษายืน

Share