คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6514/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์จะใช้สิทธิขอให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยการแถลงให้ศาลทราบถึงความจำเป็นที่โจทก์ไม่อาจมาศาลตามกำหนดนัดได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 41 จะต้องเป็นกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งเนื่องจากโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีตามมาตรา 37 แล้ว แต่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบถึงเหตุที่ไม่มาซึ่งถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีที่ฟ้องอีกต่อไป
ในวันที่ศาลแรงงานนัดพิจารณาตามมาตรา 37 โจทก์และจำเลยมาศาลตามกำหนดนัด จำเลยยื่นคำให้การเป็นหนังสือ ศาลแรงงานได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้ว และได้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 ดังนั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 จึงเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อโจทก์ทราบนัดแล้วไม่มาศาลตามกำหนดศาลแรงงานสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ เนื่องจากโจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดนัดในวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งล่วงพ้นวันนัดพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 37 แล้ว และวันดังกล่าวไม่ใช่วันนัดพิจารณาตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง คำสั่งของศาลแรงงานจึงเป็นการสั่งให้จำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2522 มาตรา 201 วรรคหนึ่งประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ซึ่งห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีนั้นใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างให้แก่นางสุวรรณา พรไพรเพชรลูกจ้างของโจทก์ที่ถูกเลิกจ้าง โจทก์ไม่พอใจจึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ศาลแรงงานกลางนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 11 สิงหาคม 2542 แต่จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดี ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 ตุลาคม 2542 ในวันนัดดังกล่าวศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 เวลา 9 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยทั้งสองมาศาล ส่วนโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2542 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีโดยอ้างเหตุจำเป็นที่ไม่มาศาลตามกำหนดนัดเนื่องจากทนายโจทก์ได้รับอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2542 ไม่สามารถมาศาลในวันนัดคือวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 ได้ทนายโจทก์จึงมอบฉันทะให้เสมียนทนายโจทก์มายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนัด แต่เนื่องจากฝนตกหนักการจราจรติดขัดทำให้เสมียนทนายโจทก์นำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาลล่าช้า

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์จะใช้สิทธิขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยการแถลงให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงความจำเป็นที่โจทก์ไม่อาจมาศาลตามกำหนดนัดได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 41 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง เนื่องจากโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีตามมาตรา 37 แล้ว แต่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงเหตุที่ไม่มาซึ่งถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีที่ฟ้องอีกต่อไป แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าในวันที่ศาลแรงงานกลางนัดพิจารณาตามมาตรา 37 คือวันที่ 11 สิงหาคม2542 ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็นวันที่ 8 ตุลาคม 2542 นั้น โจทก์และจำเลยทั้งสองมาศาลตามกำหนดนัด จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การเป็นหนังสือ จนศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้ว และได้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 ดังนั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 จึงเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์เมื่อโจทก์ทราบนัดแล้วไม่มาศาลตามกำหนดศาลแรงงานกลางสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ เห็นได้ว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดนัดในวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งล่วงพ้นวันนัดพิจารณาคดีตามมาตรา 37 แล้ว และวันดังกล่าวไม่ใช่วันนัดพิจารณาตามมาตรา 40วรรคหนึ่ง คำสั่งของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการสั่งให้จำหน่ายคดี เนื่องจากโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 วรรคหนึ่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ซึ่งห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

พิพากษายืน

Share