คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1432/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดินเพื่อปลูกสร้างตึกแถวให้เช่า โดยเมื่อจำเลยสร้างตึกเสร็จ ตึกตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน แต่เจ้าของที่ดินยอมให้จำเลยมีสิทธิครอบครองและให้เช่าช่วงต่อไปได้การที่โจทก์เช่าตึกรายนี้จากจำเลยจึงเป็นการเช่าช่วงโดยชอบ แต่เมื่อต่อมาเจ้าของที่ดินบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลย และใช้สิทธิครอบครองตึกเพราะจำเลยผิดสัญญา จำเลยก็หมดสิทธิที่จะครอบครองและให้โจทก์เช่าช่วงได้ต่อไป ถือได้ว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์ เพราะจำเลยไม่สามารถให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในตึกที่เช่าได้ตามสัญญา และกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทให้เจ้าของที่ดินหลังจากที่จำเลยให้โจทก์เช่า จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 เจ้าของที่ดินไม่ต้องรับเอาผลของสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยแต่ประการใด
ฟ้องเรียกเงินค่าเช่าที่ชำระให้ผู้ให้เช่าไปล่วงหน้าคืนมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

คดี 3 สำนวนนี้ศาลรวมพิจารณาพิพากษา

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนสามัญไม่ได้จดทะเบียนได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมศิลปากรมีกำหนดเวลา 15 ปีเพื่อปลูกสร้างตึกแถว เมื่อปลูกสร้างเสร็จ กรรมสิทธิ์ตกเป็นของกรมศิลปากร แต่ให้จำเลยมีสิทธิครอบครองเก็บค่าเช่าได้ตลอดอายุการเช่า จำเลยได้สร้างตึกแถวลงในที่เช่า และโจทก์ทั้งสามได้ทำสัญญาเช่าจากจำเลยโดยได้เสียเงินช่วยค่าก่อสร้างให้จำเลย และจำเลยได้เรียกค่าเช่าล่วงหน้ารวดเดียว 15 ปีจากโจทก์ ต่อมาจำเลยผิดสัญญาเช่ากับกรมศิลปากร กรมศิลปากรจึงบอกเลิกสัญญากับจำเลย แล้วประกาศให้ผู้เช่าตึกแถวไปทำสัญญาเช่าใหม่ โจทก์จำต้องไปทำสัญญาและเสียค่าเช่ากับกรมศิลปากร ถือว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในตึกพิพาทไม่ได้ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามส่วนของจำนวนค่าเช่าล่วงหน้าที่จำเลยเรียกเก็บไปโดยคิดจากวันที่จำเลยถูกกรมศิลปากรบอกเลิกสัญญา

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้มอบตึกให้โจทก์ครอบครองใช้ประโยชน์ตามสัญญาแล้วจำเลยมิได้ผิดสัญญากับกรมศิลปากร กรมศิลปากรไม่มีสิทธินำตึกไปให้โจทก์เช่า โจทก์ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาเช่าซ้ำอีกโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย

จำเลยที่ 2 ให้การว่า กรมศิลปากรไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ไม่มีสิทธิเก็บค่าเช่าจากโจทก์ซ้ำ จำเลยไม่ได้ผิดสัญญากับโจทก์ ฯลฯ และตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญากับกรมศิลปากรผู้เดียว จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด และว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาเช่าที่ดินระหว่างกรมศิลปากรกับจำเลยมีความว่า เมื่อจำเลยสร้างตึกเสร็จ ตึกตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมศิลปากร แต่กรมศิลปากรยอมให้จำเลยมีสิทธิครอบครองและให้เช่าช่วงต่อไปได้ ดังนี้การที่จำเลยครอบครองตึกพิพาทและให้โจทก์เช่าได้นั้น ก็โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่จำเลยทำไว้กับกรมศิลปากร การที่โจทก์เช่าตึกรายนี้จากจำเลยจึงเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเท่าที่จำเลยมีสิทธิในตึกที่เช่าแต่เมื่อปรากฏในเวลาต่อมาว่ากรมศิลปากรได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยและใช้สิทธิครอบครองตึก เพราะเหตุจำเลยผิดสัญญา จำเลยก็หมดสิทธิที่จะครอบครองและให้โจทก์เช่าช่วงได้ต่อไป จึงถือได้ว่าจำเลยได้ประพฤติผิดสัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์ โดยจำเลยไม่สามารถให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในตึกที่เช่าจนครบกำหนด 15 ปีตามสัญญาแล้ว ที่โจทก์อยู่ในตึกที่เช่าต่อมามิได้อยู่โดยอาศัยสัญญาเช่ากับจำเลย โจทก์จึงชอบที่จะเรียกเงินค่าเช่าที่ชำระล่วงหน้าให้จำเลยไปแล้วคืนได้ ส่วนข้อที่จำเลยโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญากับโจทก์ เพราะเมื่อกรมศิลปากรเอาการครอบครองคืนจากจำเลย สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยย่อมโอนติดตามไปยังกรมศิลปากร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 ด้วย กรมศิลปากรมีหน้าที่ต้องให้โจทก์เช่าต่อไปตามสัญญาเช่าดังกล่าว ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ไปทำสัญญาเช่าซ้ำอีกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อตามสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับกรมศิลปากรให้ตึกพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมศิลปากรทันทีที่จำเลยสร้างเสร็จ กรณีก็ไม่ต้องด้วยมาตรา 569 เพราะไม่ใช่เรื่องที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทให้กรมศิลปากรหลังจากที่จำเลยให้โจทก์เช่าไปแล้วกรมศิลปากรจึงไม่ต้องรับเอาผลของสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยแต่ประการใด กรมศิลปากรมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ไปทำสัญญาเช่าตึกใหม่ได้ และที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ถูกรอนสิทธินั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องเรียกเงินค่าเช่าที่ชำระให้จำเลยไปล่วงหน้าคืนซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มิใช่เป็นเรื่องรอนสิทธิแต่อย่างใด จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 มาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้

พิพากษายืน

Share