แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระบบไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ หากระบบไฟฟ้าใช้การไม่ได้ย่อมส่งผลให้เครื่องยนต์ ระบบทำความเย็นและอื่น ๆ ใช้การไม่ได้ไปด้วย การที่ระบบไฟฟ้าของรถยนต์คันที่จำเลยเช่าซื้อไป จากโจทก์เสียทั้งระบบ 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่รับมอบรถยนต์ ถือได้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อม ความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติ อันผู้ขายต้องรับผิด จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อจัดการแก้ไขหรือเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยจึงไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดต่อมาและใช้สิทธิ เลิกสัญญาเสียได้ และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าว คู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อจำเลยมิได้ผิดสัญญาก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา2,580,864 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละ 53,768 บาท ต่อเดือนเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 มกราคม 2538 และงวดต่อไปชำระทุกวันที่ 25 ของเดือนจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 โจทก์บอกเลิกสัญญา ต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 นำรถยนต์มาคืนโจทก์ โจทก์นำรถยนต์ออกประมูลขายได้เงินเพียง 1,300,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดราคา 1,173,328 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 600,000 บาท และขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ออกให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 10,000บาท เป็นเวลา 1 เดือน 15 วัน เป็นเงิน 15,000 บาท นอกจากนั้นโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน 5,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ระบบไฟฟ้าของรถยนต์ที่เช่าซื้อชำรุดบกพร่องจำเลยที่ 1 ขอเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่แต่โจทก์ไม่เปลี่ยนให้ โจทก์และจำเลยที่ 1สมัครใจเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ไปคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์คืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 215,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537จำเลยที่ 1 ได้จองซื้อรถยนต์เชฟโรเลทแบบตู้นั่ง 4 ตอน จากบริษัทอีโคโนมีเชฟโรเล่ต์ (ประเทศไทย) จำกัด ในราคา 2,600,000 บาท ชำระเงินในวันจอง200,000 บาท หลังจากวันจองประมาณ 3 เดือน จึงได้รถยนต์ และชำระเงินมัดจำให้แก่บริษัทอีโคโนมี เชฟโรเล่ต์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำนวน 800,000บาท รวมเป็นเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งสิ้น 1,000,000 บาท คงเหลือราคารถยนต์ที่ยังค้างชำระอยู่อีกจำนวน 1,600,000 บาท บริษัทอีโคโนมีเชฟโรเล่ต์ (ประเทศไทย)จำกัด ได้ติดต่อโจทก์ให้มาเป็นผู้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อเมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2537 ในราคาค่าเช่าซื้อ 2,580,864 บาท แบ่งชำระเป็น 48 งวดงวดละ 53,768 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 2 งวด แล้วไม่ชำระในงวดที่ 3 ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 25 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2538 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อหรือส่งมอบรถยนต์คืน มิฉะนั้นให้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวยกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม2538 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ขอส่งมอบรถยนต์คืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.3 และในวันที่ 9พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนโจทก์ ตามหลักฐานการส่งมอบ/รับรถคืน เอกสารหมาย ล.2 หรือ จ.7
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์และค่าเสียหายจากการที่โจทก์นำรถที่ให้เช่าซื้อออกประมูลขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าราคาเช่าซื้อหรือไม่ เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่าระบบไฟฟ้าของรถยนต์เสียทั้งระบบ3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่รับมอบรถยนต์ ที่โจทก์นำสืบว่า การชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้นต้องถึงขนาดในกรณีซื้อขายรถยนต์ต้องถึงขนาดเครื่องเสียใช้การไม่ได้ หรือขาดสาระสำคัญของความมีอยู่แห่งตัวรถยนต์นั้น เพียงระบบไฟฟ้าและคิ้วยางแห้งกรอบเป็นเพียงอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ไม่ใช่สาระสำคัญของทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้น เห็นว่า ระบบไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์หากระบบไฟฟ้าใช้การไม่ได้ย่อมส่งผลให้เครื่องยนต์ ระบบทำความเย็นและอื่น ๆ ใช้การไม่ได้ไปด้วย ถือได้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติ อันผู้ขายต้องรับผิดจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อจัดการแก้ไขหรือเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการจำเลยที่ 1 จึงไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดต่อมาและใช้สิทธิเลิกสัญญาเสียได้และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยที่ 1 ได้คืนรถยนต์พิพาทให้โจทก์แล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์พิพาทอยู่ 1 เดือน 15 วัน เมื่อพิเคราะห์ถึงว่ารถยนต์พิพาทอยู่ในสภาพชำรุดบกพร่อง ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์จัดการแก้ไขหรือเปลี่ยนรถยนต์ให้ใหม่ จำเลยที่ 1 จึงน่าจะไม่ได้ใช้หรือใช้ทรัพย์ของโจทก์ได้ไม่มาก เมื่อพิจารณาประกอบกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้โจทก์แล้ว จึงไม่สมควรกำหนดค่าใช้ทรัพย์ให้โจทก์อีก
ส่วนที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกประมูลขายได้ราคาต่ำกว่าค่าเช่าซื้อนั้น เห็นว่า โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกัน ผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าว คู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆให้แก่โจทก์
พิพากษายืน