คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งอย่างไรเพียงแต่บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันหลอกลวงพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าห้องเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 นั้นไม่แสดงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของห้องแถวซึ่งเดิมรวมอยู่ในบ้านทะเบียนเลขที่ 71/6 ปลูกอยู่ในที่ดินซึ่งโจทก์เช่าจากผู้มีชื่อ พ.ศ. 2499 โจทก์ที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 ไปขอเลขหมายทะเบียนบ้านเป็นเลขทะเบียนที่ 119/36, 119/37, 119/38 ผู้ให้เช่าที่ดินเดิมถึงแก่กรรม โจทก์เช่าจากผู้จัดการมรดก ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2495 ผู้จัดการมรดกแยกโฉนดเดิม โดยห้องแถวสามห้องอยู่ในเขตโฉนดที่ 18372 ส่วนหนึ่ง และเลขที่ 18373 อีกส่วนหนึ่ง โฉนดที่ 13872 เปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองร่วมกันด้วยเจตนาทุจริตนำเอาความซึ่งตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่า ห้องแถว 3 ห้องที่จำเลยที่ 2 เคยขอเลขทะเบียนบ้านแทนโจทก์นั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมซื้อขายห้องแถว 3 ห้องนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 เอง แต่โจทก์ที่ 2 ได้อายัดห้องเลขที่ 119/36 ไว้ต่อพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสองจึงทำนิติกรรมสำเร็จไปเพียง 2 ห้อง เท่านั้น จำเลยทั้งสองมีเจตนาฉ้อโกงกรรมสิทธิ์ห้องแถวเลขที่ 119/37,119/38 จากโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341

ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์เคลือบคลุม พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งอย่างไร การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันหลอกลวงพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าห้องเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 นั้น ไม่แสดงว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

พิพากษายืน

Share