คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของตนโดยยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถแท็กซี่ออกวิ่งรับคนโดยสารในนามสหกรณ์แท็กซี่อิสระ จำกัด ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ 2โดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์จากสมาชิกที่นำรถเข้าวิ่ง-ร่วม เท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าจำเลยที่ 1เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถไปกระทำละเมิดอันต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427,821

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์คันซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์เสียหาย โจทก์ต้องเสียค่าซ่อม 6,700 บาท จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือกิจการเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 6,700 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์หรือส่วนได้เสียใด ๆ ร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดและไม่รับรองว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าซ่อม 5,700 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2

โจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นสหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2513)ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ (พ.ศ. 2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 คดีนี้แม้จะไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกินเงินเดือนค่าจ้างจากจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำในกิจการเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันด้วย และคดีได้ความว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของตน โดยยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถแท็กซี่ออกวิ่งรับคนโดยสารในนามสหกรณ์แท็กซี่อิสระ จำกัด ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์จากสมาชิกที่นำรถเข้าวิ่งร่วมนั้น เท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 นั่นเองบุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบการเดินรถแท็กซี่รับบรรทุกคนโดยสารคันนั้นในกิจการของจำเลยที่ 2 เอง ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถไปกระทำละเมิดอันต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมด้วย เสมือนเป็นตัวการตัวแทนกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427, 821

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share