แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาทซึ่งจำเลยที่ 4 โอนขายให้จำเลยที่ 6 ประเด็นในคดีก่อนมีว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ 6 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทอันเป็นที่บางส่วนตามน.ส.3 ที่จำเลยที่ 4 โอนขายให้จำเลยที่ 6 นั้น เป็นของโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้ น.ส.3 มาโดยมิชอบ ประเด็นในคดีนี้มีว่าจำเลยที่ 4 ได้ น.ส.3 มาโดยมิชอบหรือไม่ กับประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 3 แม้ประเด็นในคดีนี้จะเกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีก่อน แต่ก็มิใช่ประเด็นเดียวกันโดยตรง ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่ฟ้องซ้อนกับคดีก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินที่อำเภอสูงเนินจังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ ตามเส้นสีแดงในแผนที่ท้ายฟ้องโดยซื้อมาเมื่อ พ.ศ. 2507 โจทก์ครอบครองต่อจากเจ้าของเดิมเกิน 10 ปีแล้วโจทก์เคยยื่นคำร้องขอผ่อนผันแจ้งการครอบครองต่อจังหวัดนครราชสีมาแต่ทางจังหวัดไม่อนุมัติและแนะนำให้โจทก์ยื่นเข้ามาใหม่ เมื่อวันที่ 18 และ28 กันยายน 2513 โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายอำเภอสูงเนินผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานที่ดินอำเภอดังกล่าว เพื่อให้ออก ส.ค.1และ น.ส.3 ให้โจทก์ และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันการแจ้งการครอบครองที่ดินเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2513 ต่อจำเลยที่ 1 โดยผ่านจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นปลัดอำเภอสูงเนิน สั่งให้จังหวัดฯ พิจารณา จำเลยที่ 6ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน คำขอผ่อนผันแจ้งการครอบครองของโจทก์อ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 6 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 6 กับนายธวัชผู้จัดการ ตามคดีหมายเลขดำที่ 282/2514 ของศาลชั้นต้น คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ต่อมาความจึงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย คือ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2513 จำเลยที่ 1 ออกประกาศให้มีการจับจองที่ดินบริเวณที่พิพาท วันที่ 9 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 4 ยื่นเรื่องราวขอจับจองต่อจำเลยที่ 2 รวมเอาที่ของโจทก์บริเวณเส้นสีเหลืองและเขียวตามแผนที่ท้ายฟ้องเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ เข้าไปด้วย จำเลยที่ 3 ออกประกาศจับจองที่ดินของจำเลยที่ 4 ในวันเดียวกันกับที่จำเลยที่ 4 ยื่นเรื่องราวนั้นเองแต่มิได้นำประกาศไปปิดไว้ ณ ที่ดินที่จับจองยอมให้จับจองในที่ดินของโจทก์ ซึ่งมิใช่ที่รกร้างว่างเปล่า มิได้รังวัดเขตที่ดินแสดงรูปแผนที่ผิดจากความเป็นจริง และนำเอาทางเกวียนเข้ามาในที่ดินที่ขอจับจอง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย ในที่สุดจำเลยที่ 1 ออกใบจองให้จำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2513 วันที่ 27 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 4 ยื่นคำขอรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) โดยยังมิได้ทำประโยชน์ จำเลยที่ 3 ออกประกาศตามคำขอในวันเดียวกัน และในวันนั้นเองจำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทขายต่อจำเลยที่ 1 ผ่านจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 ออกประกาศขายในวันนั้น ในที่สุดจำเลยที่ 3 ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2513 คือน.ส.3 เล่ม 1 หน้า 195 สารบบเลขที่ 978 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 4ทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำสัญญาจดทะเบียนให้ ขอให้พิพากษาว่าการออกใบจองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะและขอให้มีคำสั่งให้เพิกถอนเสีย
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการและต่อสู้ด้วยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 282/2514 ของศาลชั้นต้น
ระหว่างสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ซ้อนกับคดีหมายเลขดำดังกล่าวแล้วให้ยกฟ้องโจทก์เสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยในคดีนี้ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 282/2514 อันเป็นคดีแรกคือจำเลยที่ 6 เท่านั้นส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแรกด้วยทั้งประเด็นในคดีแรกเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 6 ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ 6 ส่วนในคดีนี้มีประเด็นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ว่า ที่พิพาทบางส่วนตาม น.ส.3 ซึ่งจำเลยที่ 4 โอนขายให้จำเลยที่ 6 เป็นของโจทก์โดยจำเลยที่ 4 ได้รับ น.ส.3 มาโดยมิชอบหรือไม่กับประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 แม้ประเด็นในคดีนี้จะเกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีแรก แต่ก็มิใช่ประเด็นเดียวกันโดยตรงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสองคดีต่างกัน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6เข้ามาด้วยก็เพราะมีประเด็นพาดพิงเกี่ยวกับการซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 4ดังนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 282/2514ของศาลชั้นต้น คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี