แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ซึ่งไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เล่าเรื่องใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามคือนายปรีชา ทิพยเนตร ซึ่งใช้นามปากกา หรือนามแฝงว่า ไว ตาทิพย์ เป็นผู้เขียนหรือควบคุมข้อเขียนในคอลัมน์ “ไว ตาทิพย์ กระพริบที่นี่” แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า “โจทก์จะให้ลูกชายของจำเลยในคดีนี้ไปเซ็นชื่อยอมความกับจำเลย (ในคดีอื่น) ขอให้รับเงินค่าทำขวัญหนึ่งหมื่นบาท” อันไม่เป็นความจริง เป็นการกระทำที่มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามเป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง จำเลยประสงค์ต่อผลที่จะให้ข้อความนั้นปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บุคคลทั่วไปที่ไม่ทราบความจริงได้อ่านบทความในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวตรงข้อความว่า “เพราะท่าทีของท่านเจ้าหน้าที่พยายามหนักหนาที่จะให้ฝ่ายเธอ โดยเฉพาะลูกชายไปเซ็นชื่อยอมความกับจำเลยขอให้รับเงินค่าทำขวัญหนึ่งหมื่น” และ “เรื่องมันก็เดินไปในครรลองนี้ เจ้าทุกข์จะเอาเรื่องแต่คุณตำรวจท่านเกลี้ยกล่อมไม่ให้เอาเรื่อง” ประกอบกับข้อความที่จำเลยใส่ความโจทก์ข้างต้นบุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ทันทีว่าคำว่า “ท่านเจ้าหน้าที่” และ “คุณตำรวจ” หมายถึงโจทก์เป็นเหตุให้ประชาชนที่ไม่ทราบความจริงดูถูกเกลียดชังโจทก์ เพราะเข้าใจว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจใช้อิทธิพลในตำแหน่งหน้าที่ข่มขู่ผู้อื่น ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ทำให้โจทก์เสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ 7
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายสู่ศาลฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) หรือไม่ ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาว่า ลูกสะใภ้ของจำเลยถูกฆ่าตาย โจทก์เป็นพนักงานสอบสวนเดินทางไปตามตัวนายเดชาบุตรชายของจำเลยซึ่งเป็นสามีผู้ตายเพื่อไปตกลงรับรู้เรื่องราวในการที่ภริยาผู้ต้องหาจะชดใช้ค่าทำศพและค่าเลี้ยงดูบุตรผู้ตาย เมื่อไม่พบนายเดชาคงพบแต่จำเลยซึ่งเป็นมารดานายเดชาที่ตลาด โจทก์พูดว่าจำเลยเป็นผู้ใหญ่แล้วพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย โจทก์เป็นสารวัตรแล้ว มีจดหมายมาก็ควรจะไปพบ โจทก์พยายามให้จำเลยตามตัวนายเดชาไปพบให้ได้ในวันนั้น โจทก์พยายามเร่งรัดติดตามตัวนายเดชา จำเลยว่าไม่สามารถทำได้ ได้เกิดโต้เถียงกัน จำเลยจึงเล่าเรื่องราวตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ดังนี้ เห็นว่า พฤติการณ์ของโจทก์ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจไปได้ว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีที่ลูกสะใภ้ของจำเลยถูกฆ่าตาย จึงได้นำเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของโจทก์ไปเล่าให้นายปรีชา หรือ “ไว ตาทิพย์” ผู้เขียนหรือควบคุมคอลัมน์ไว ตาทิพย์ กระพริบที่นี่ แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฟังว่าโจทก์จะให้ลูกชายของจำเลยไปเซ็นชื่อยอมความกับจำเลย (ในคดีอื่น) ขอให้รับเงินค่าทำขวัญหนึ่งหมื่นบาท เนื่องจากนางวิมลภริยานายเดชาบุตรชายของจำเลยถูกฆ่าตาย ทั้งนี้ด้วยจำเลยหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจึงเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)
พิพากษายืน