คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 217/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะมีคำสั่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการที่จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง แม้ว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนก่อนตามข้อบังคับแล้วก็ตาม มาตรา 49 มุ่งหมายที่จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างนอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อกฎหมายมีวัตถุที่ประสงค์ในการให้ความคุ้มครอง ก็ย่อมให้สิทธิที่จะฟ้องขอรับความคุ้มครองอยู่ในตัว
การที่โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์เห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ก็ย่อมถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลย
ฟ้องโจทก์แปลได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งตามมาตรา 49 ขณะนี้ ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าอายุความในกรณีเช่นนี้มีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164
เมื่อจำเลยดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหาว่าโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างลักทรัพย์ของจำเลยผู้เป็นนายจ้างนั้น หากจะฟ้องขอให้บังคับในทางแพ่งด้วย ก็ได้แต่ขอให้คืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์ในฐานที่จำเลยถูกโจทก์กระทำละเมิดเท่านั้น ใช่ว่าจะขอให้ศาลบังคับให้โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ไม่ การที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ต้องหาว่าลักทรัพย์ของจำเลยได้หรือไม่นั้นจึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลแรงงานไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ถูกจำเลยที่ 1 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าลักน้ำใช้ อันเป็นการกระทำผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยกระทำความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์ คณะกรรมการเสียงข้างมาก 4 ใน 5 คน มีมติว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาคงมีแต่กรรมการอีกคนหนึ่งไม่เห็นด้วยและทำความเห็นแย้ง แต่ต่อมาจำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงาน อ้างว่าเป็นความผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ข้ออ้างนั้นตรงข้ามกับมติของคณะกรรมการสอบสวน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานกรรมการการประปานครหลวง จำเลยที่ 2 สั่งยืนตามคำสั่งจำเลยที่ 1 โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ แต่ศาลทหารกรุงเทพพิพากษายกฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ฯลฯ

จำเลยทั้งสองต่างยื่นคำให้การทำนองเดียวกันว่า คำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบการของจำเลย ไม่เป็นการละเมิด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง การพิจารณาโทษทางอาญาของศาลกับการพิจารณาโดยทางวินัยเป็นคนละส่วนกัน คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันถูกปลดออกจากงาน ฯลฯ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า โจทก์มิได้กระทำความผิด ให้จำเลยที่ 1 สั่งโจทก์เข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากงานนี้ ถึงแม้ว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนก่อนตามข้อบังคับแล้วก็ตาม แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า การมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานนั้นเป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานก็มีอำนาจที่จะมีคำสั่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้ แม้ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจะได้กำหนดไว้ให้คำวินิจฉัยสั่งการของประธานกรรมการการประปานครหลวง ในการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดก็ย่อมมีความหมายเพียงว่าจะอุทธรณ์ต่อไปยังผู้ใดที่มีอำนาจหน้าที่กำกับกิจการของการประปานครหลวงอีกไม่ได้เท่านั้นและการที่โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างและโจทก์เห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ เช่นนี้ ก็ย่อมถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งแล้วโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า มาตรา 8 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ไม่ใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้อง หากแต่เป็นเรื่องที่กำหนดให้เรื่องใด กรณีใด อยู่ในขอบเขตที่ศาลแรงงานจะมีอำนาจพิจารณาได้นั้นข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 49 นั้น มุ่งหมายที่จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างนอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อกฎหมายมีวัตถุที่ประสงค์ในการให้ความคุ้มครองก็ย่อมให้สิทธิที่จะฟ้องขอรับความคุ้มครองอยู่ในตัว

คำฟ้องคดีนี้แปลได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เวลานี้ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าอายุความในกรณีเช่นนี้มีกำหนด10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ไม่ใช่ 1 ปี

ในข้อหาว่าโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างลักทรัพย์ของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง เมื่อจำเลยดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ให้มีการฟ้องร้องให้ศาลลงโทษนั้น หากจะฟ้องขอให้บังคับในทางแพ่งด้วยก็ได้แต่ขอให้คืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์ในฐานที่จำเลยถูกโจทก์กระทำละเมิดเท่านั้นใช่ว่าจะขอให้ศาลบังคับให้โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ก็หาไม่ การที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ต้องหาว่าลักทรัพย์ของจำเลยได้หรือไม่นั้น จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 1 ลักษณะ 3 หมวด 2 ดังนั้นในคดีที่จะวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์จริงหรือไม่นั้น ศาลแรงงานไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังนั้น แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีส่วนอาญาว่าโจทก์มิได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดฐานลักน้ำประปาของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง แต่จำเลยก็ยังใช้ดุลพินิจพิจารณาสำนวนการสอบสวนทางวินัยและฟังว่าโจทก์กระทำความผิดจริงดังที่ถูกกล่าวหาแล้วมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงาน ดังนี้ ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด

Share