คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนต้องเสียเปรียบ การโอนดังกล่าวจึงอาจถูกเพิกถอนได้ เว้นแต่จะเป็นการโอนอันมีค่าตอบแทนซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริต กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่กรณีเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นน้องร่วมบิดามารดากับเจ้ามรดก โจทก์จึงมีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของเจ้ามรดกคนละครึ่ง อันมีที่ดินโฉนดเลขที่ 644 และ 601 อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกโดยโจทก์ไม่ทราบ ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 สมคบกันจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยมิได้นำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์จึงขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองโฉนดระหว่างจำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาใช้ในการจัดงานศพเจ้ามรดกตามประเพณีด้วยความรู้เห็นยินยอมของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 จึงตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 644 และ 601 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ เมื่อหักเงินที่กู้ยืมแล้วคงเหลือเงินอีกจำนวนหนึ่งซึ่งจำเลยที่ 1 จะแบ่งให้แก่โจทก์หลังจากได้จัดการเผาศพเจ้ามรดกแล้ว

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่มีสิทธิจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสาม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งสองโฉนดตามฟ้องและให้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา ต่อมาจำเลยที่ 3 ขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 3

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้จะต้องได้ความว่า จำเลยที่ 2 เข้าทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกับจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าจะทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตจึงมิได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น เห็นว่าตัวบทกฎหมายที่จะนำมาปรับในกรณีเรื่องนี้หาใช่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ แต่กรณีเรื่องนี้เป็นเรื่องการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 644 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายวอนที่ตกได้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน การโอนดังกล่าวจึงอาจถูกเพิกถอนได้เว้นแต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริต และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนได้กระทำการโดยสุจริต และเห็นว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 644 นั้น จำเลยที่ 1 และโจทก์มีส่วนคนละครึ่ง จึงให้เพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น

พิพากษาแก้เป็นว่าให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 644 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share