แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้สินค้าในรถของโจทก์ทั้งสองคันเสียหาย คือปลาสด 7,370 กิโลกรัมเศษ กุ้งสด 5,638 กิโลกรัม เศษ ปูสด 35 กิโลกรัม ไข่สด 1,195 กิโลกรัม กับอีก 5,000 ฟอง และน้ำแข็ง 93 ลัง เสียหายทั้งหมดคิดเป็นเงินรวม 372,909 บาท โจทก์รับจ้างขนสินค้าดังกล่าวจึงต้องชดใช้ราคาสินค้าทั้งหมด และโจทก์ได้ชดใช้เงินค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าของสินค้าครบถ้วนแล้วโจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลย ดังนี้ เป็นการแสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว หาจำต้องบรรยายว่าทรัพย์สินที่เสียหายเป็นของผู้ใด จำนวนเท่าใดไม่ เพราะเป็นรายละเอียดอันจะนำสืบกันในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่เกิดเหตุมีกระแสน้ำไหลเชี่ยวเป็นปกติซึ่งจำเลยที่ 2 และนายท้ายเรือคนอื่น ๆ เคยประสบมาเป็นประจำอยู่แล้วโดยไม่เกิดเหตุร้าย แสดงว่าในการขับเรือแพขนานยนต์เข้าจอดเทียบท่าแม้กระแสน้ำจะไหลเชี่ยว ถ้าจำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอย่างเช่นเคย เรือแพขนานยนต์ก็ไม่เอียง และรถจะไม่ไหลตกทะเล เหตุที่เกิดขึ้นจึงเกิดแต่จำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการขับเรือแพขนานยนต์เข้าจอดเทียบท่า หาใช่เกิดแต่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้แต่อย่างใดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ภายใต้การสั่งการของจำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นตัวแทนและลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ได้กระทำโดยประมาท โดยจำเลยที่ 2 ขับขี่ควบคุมแพขนานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ของจำเลยที่ 1 รับขนส่งรถยนต์รวมทั้งสินค้าและคนโดยสารข้ามทะเลสาบสงขลา จำเลยที่ 3 เป็นผู้บังคับบัญชารู้ว่าขณะนั้นกระแสน้ำกำลังไหลแรง แพขนานยนต์อาจล่มได้โดยง่าย จำเลยที่ 2ยังอนุญาตให้รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ซึ่งบรรทุกสินค้าเต็มถึง 6 คันลงบรรทุกในแพพร้อมกัน แพจึงเพียบน้ำ จำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังเพียงพอในการนำแพขนานยนต์เข้าเทียบท่า แพจึงชนท่าเทียบแพอย่างแรง เป็นเหตุให้แพเอียงจมน้ำไปด้านหนึ่ง รถบรรทุกบนแพตกลงทะเล 3 คัน อีก 3 คันพลิกคว่ำ รถของโจทก์จมหายไปในทะเล 1 คัน พลิกคว่ำบนแพ 1 คัน สินค้าในรถโจทก์ทั้งสองคันจมน้ำไปหมดทำให้เสียหายคือ ปลาสด 7,370 กิโลกรัมเศษ กุ้งสด 5,638 กิโลกรัมเศษปูสด 35 กิโลกรัม ไข่สด 1,195 กิโลกรัมเศษ กับอีก 5,000 ฟอง และน้ำแข็ง93 ลัง เป็นเงินรวม 372,909 บาท โจทก์รับจ้างขนส่งสินค้าดังกล่าว ได้ชดใช้เงินค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าของสินค้าจนครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้โจทก์ยังขาดรายได้จากค่าขนส่งเป็นเงิน 9,500 บาท เมื่อรวมกับดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้องเป็นเงิน 406,309.36 บาท จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป จำเลยที่ 3 ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย372,909 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าทรัพย์สินที่เสียหายเป็นของผู้ใด แต่ละอย่างราคาเท่าใดและโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของทรัพย์สินจำนวนเท่าใดอันเป็นสารสำคัญที่โจทก์ต้องแสดงโดยละเอียด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่าสินค้าในรถโจทก์ทั้งสองคันที่เสียหาย คือ ปลาสด 7,370 กิโลกรัมเศษ กุ้งสด 5,634 กิโลกรัมเศษ ปูสด 35 กิโลกรัมไข่สด 1,195 กิโลกรัมเศษ กับอีก 5,000 ฟอง และน้ำแข็ง 93 ลัง เสียหายทั้งหมดคิดเป็นเงินรวม 372,909 บาท โจทก์รับจ้างขนส่งสินค้าดังกล่าวจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปส่งที่จังหวัดสงขลา จึงต้องรับผิดชดใช้ราคาสินค้าทั้งหมดดังกล่าว และโจทก์ได้ชดใช้เงินค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าของสินค้าครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว หาจำต้องบรรยายว่าทรัพย์สินที่เสียหายเป็นของผู้ใด แต่ละอย่างราคาเท่าใด โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่เจ้าของทรัพย์ผู้ใด จำนวนเท่าใดไม่เพราะเป็นรายละเอียดอันจะต้องนำสืบกันในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในข้อต่อไปว่า ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบฟังได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีได้ความตามคำเบิกความของนายวิชัย พยานจำเลยซึ่งเป็นกลาสีเรือแพขนานยนต์ลำเกิดเหตุว่า ก่อนเกิดเหตุก็เคยมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว นายเกลื่อนนายท้ายเรือลำเกิดเหตุก็เอาเรือเข้าจอดเทียบท่าทีเดียวได้ นายเกลื่อนกับจำเลยที่ 2ขับเรือชำนาญพอ ๆ กัน และจำเลยที่ 2 เองก็เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ประจำอยู่ที่เรือลำเกิดเหตุมา 4 ปีแล้ว เคยทำหน้าที่นายท้ายเรือตลอดมา เคยบรรทุกน้ำหนักมาก ๆ อย่างวันเกิดเหตุ และน้ำเชี่ยวอย่างวันเกิดเหตุก็เคยขับมาแล้วไม่ว่าจะบรรทุกมากหรือน้อยก็เลี้ยวเรือได้เหมือน ๆ กัน เหตุที่เรือเอียงวูบวันเกิดเหตุเป็นเพราะตอนที่จำเลยที่ 2 หักหัวเรือเอียงไป 15 องศา ถ้าเรือไม่เอียงแล้วรถก็จะไม่ไหลไปเช่นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวเป็นเหตุปกติซึ่งนายเกลื่อนและจำเลยที่ 2 เคยประสบมาเป็นประจำอยู่แล้วไม่เคยเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นเลย แสดงว่าในการขับเรือแพขนานยนต์เข้าจอดเทียบท่าแม้กระแสน้ำจะไหลเชี่ยว ถ้าจำเลยที่ 2 จัดการระมัดระวังตามสมควรอย่างเช่นเคย เรือแพขนานยนต์ก็จะไม่เอียงและรถก็จะไม่ไหลตกทะเล เหตุที่เกิดขึ้นจึงเกิดแต่จำเลยที่ 2ไม่ใช้ความระมัดระวังเพียงพอในการขับเรือแพขนานยนต์เข้าจอดเทียบท่าหาใช่เกิดแต่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้แต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน