แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ให้เช่ารับเงินกินเปล่าไว้จากผู้เช่านั้น หาใช่เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ไม่ หากแต่เป็นการรับไว้เนื่องจากผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่าทำสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าไม่ให้ผู้เช่าอยู่ครบกำหนดตามที่ตกลงกัน ผู้เช่าเรียกเงินกินเปล่าคืนเพราะผู้ให้เช่าผิดสัญญาจะต้องใช้อายุความทั่วไป ซึ่งมีกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
สัญญาเช่ามิได้จดทะเบียนมีผลบังคับเพียง 3 ปี แต่เมื่อผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่าไม่ทักท้วงย่อมถือได้ว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญากันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 ดังนั้น ตราบใดที่ผู้เช่ายังเช่าห้องพิพาทอยู่ สิทธิเรียกร้องเงินกินเปล่าของผู้เช่าจึงยังไม่เกิดขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและขอแก้ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2496 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาให้โจทก์เช่าบ้านโดยตกลงว่าจะให้โจทก์เช่าอยู่ตลอดอายุของโจทก์ภรรยาและบุตรโจทก์ได้ให้เงินกินเปล่าจำเลยที่ 1 ไป 100,000 บาท โดยหักหนี้เงินยืมกัน นอกจากนี้โจทก์ได้ซ่อมแซมห้องพิพาทอีก สิ้นเงินไป 5,000 บาทเศษ หลังจากโจทก์เช่าอยู่ไม่ถึง 3 ปี โจทก์ขอร้องให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนการเช่าหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ว่าไม่จำเป็นครั้นเดือนพฤศจิกายน 2507 จำเลยที่ 2 มารดาจำเลยที่ 1 ได้ขอขึ้นค่าเช่า โจทก์ไม่ตกลงด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2508 จำเลยที่ 1 ได้โอนห้องพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้ฟ้องขับไล่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามได้สมรู้ร่วมคิดกันจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ โดยให้จำเลยคืนเงิน100,000 บาทให้โจทก์ และใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ไม่ได้อยู่ในห้องเช่าคิดเป็นเงินเดือนละ 1,870 บาท นับแต่วันที่โจทก์ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในบ้านเช่าจนตลอดชีวิตของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ ไม่เคยหักหนี้ 100,000 บาทจากโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้เป็นคู่สัญญา ไม่ควรต้องรับผิดและจำเลยที่ 1 ที่ 3 ขอเพิ่มเติมคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 437/2508 ของศาลชั้นต้น
ก่อนสืบพยานคู่ความแถลงรับกันว่า ในการที่โจทก์เช่าห้องพิพาทจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกินเปล่า 100,000 บาทจากโจทก์ไว้จริง และได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 แต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่า จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ขับไล่โจทก์ และโจทก์ได้ออกจากห้องพิพาทไปแล้ว
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมไม่เป็นฟ้องซ้ำ คดียังไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนเงิน 100,000 บาทให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ค่าเสียหายโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 100,000 บาทให้โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะเป็นการฟ้องตามลักษณะลาภมิควรได้ จำเลยไม่ต้องรับผิดคืนเงินกินเปล่าให้โจทก์ถ้าจะรับผิดก็ต้องคำนวณตามส่วนถัวเฉลี่ย เพราะโจทก์ใช้สิทธิตามสัญญามาเป็นเวลา 16 ปีเศษ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิด คืนเงิน 100,000 บาทด้วย และให้จำเลยร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ชอบจะได้เงินคืนโดยคิดเฉลี่ยหักทอนกับที่โจทก์ได้ประโยชน์ตามสัญญาเช่าบ้างแล้วพิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินให้โจทก์ 65,220 บาท ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยไม่ต้องคืนเงินให้โจทก์
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 100,000 บาท และร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 รับเงินกินเปล่าไว้จากโจทก์นั้น หาใช่เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ไม่ หากแต่เป็นการรับไว้เนื่องจากจำเลยยอมให้โจทก์ทำสัญญาเช่าห้องพิพาท แล้วจำเลยไม่ให้โจทก์อยู่ครบกำหนดตามที่ตกลงกัน โจทก์จึงเรียกเงินกินเปล่าคืน เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าโจทก์เรียกเงินคืนเพราะเหตุจำเลยผิดสัญญา จะต้องใช้อายุความทั่วไป ซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ฟ้องโจทก์จึงหาใช่เป็นเรื่องเรียกคืนลาภมิควรได้อันมีอายุความ 1 ปี สัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยมิได้จดทะเบียน มีผลบังคับเพียง 3 ปี แม้สัญญาเช่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาเช่าแล้วแต่เมื่อผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง ย่อมถือได้ว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาเช่ากันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 ตราบใดที่โจทก์ยังเช่าห้องพิพาทอยู่สิทธิเรียกร้องเงินกินเปล่าคืนของโจทก์จึงยังไม่เกิดขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของโจทก์ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์คิดหักทอนตามส่วนเฉลี่ยที่โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ห้องพิพาทเป็นเวลาถึง 16 ปี และพิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพียง 65,220 บาท ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไข และที่ขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับผิดคืนเงินกินเปล่าร่วมกับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญารับเงินกินเปล่าจากโจทก์ ส่วนที่โจทก์ต้องออกจากห้องพิพาทก็โดยผลแห่งกฎหมาย ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาในคดีก่อนให้ขับไล่โจทก์และไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 800 บาทแทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ