คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ตั้งให้ทนายโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยได้ และทนายโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย ศาลได้พิพากษาไปตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกมัดโจทก์ไม่ให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 เว้นแต่กรณีจะต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา138(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล
ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ทนายโจทก์ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับข้อความและจำนวนเงินที่จะตกลงกับจำเลยได้เต็มที่ และเมื่อได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จะมาอ้างว่าจำเลยบอกเล่ากับทนายโจทก์ไม่ตรงความจริงเป็นการฉ้อฉลทนายโจทก์หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 7,500 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันใช้แทน

จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การ ในวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 2จะยื่นคำให้การ คือ วันที่ 4 สิงหาคม 2512 ทนายโจทก์แถลงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ยอมใช้เงินให้แก่โจทก์ 2,930 บาท โดยผ่อนเป็นงวดงวดละ 200 บาทจนกว่าจะหมด หากผิดนัดงวดใดถือว่าผิดนัดทุกงวดบังคับคดีได้ทันที โจทก์จะไม่เรียกร้องรถจักรยานยนต์คืน หรือเรียกร้องอื่นใดเกี่ยวกับรถรายนี้อีก ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นพับ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม

วันที่ 2 กันยายน 2512 ทนายโจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลว่าโจทก์ได้รับเงินตามยอมงวดที่ 1 จากจำเลยแล้ว ครั้นวันที่ 3 กันยายน 2512 ทนายโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาใช้กลฉ้อฉลโกงโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงกับโจทก์ไว้ว่าจะยอมใช้เงิน 2,930 บาท ให้โจทก์ในวันทำสัญญายอม ส่วนที่เหลือ 2,400 บาทจะผ่อนชำระให้โจทก์เป็นรายเดือน ๆ ละ 300 บาท ครั้นมาถึงศาล จำเลยได้ปกปิดความจริงที่ได้ตกลงกับโจทก์มาก่อน ไม่แจ้งให้ทนายโจทก์และศาลทราบ และกล่าวเท็จต่อทนายโจทก์ว่าโจทก์จะเอาเงินทั้งหมดเพียง 2,930 บาท ยังขาดเงินไปอีก 2,400 บาท ทนายโจทก์หลงเชื่อจึงได้ทำยอมกับจำเลย ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมสัญญายอมนั้น

ศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ว่า กรณีเช่นนี้หาใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ไม่ คำพิพากษาตามยอมจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตราดังกล่าว ไม่รับอุทธรณ์

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า อุทธรณ์โจทก์ไม่ต้องห้าม ให้รับอุทธรณ์โจทก์แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ตั้งให้ทนายโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยได้ และทนายโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ศาลได้พิพากษาไปตามยอมแล้วคำพิพากษานั้นย่อมผูกมัดโจทก์ไม่ให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 เว้นแต่กรณีจะต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 138(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉลคดีนี้ทนายโจทก์มีอำนาจใช้ดุลพินิจที่ว่าข้อความและจำนวนเงินที่จะตกลงกับจำเลยนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ถ้าหากเห็นว่าจะเสียเปรียบหรือไม่สมควร ทนายโจทก์ก็มีอำนาจที่จะไม่ยอมตกลงและต่อรองได้ ถึงแม้จำเลยที่ 2 จะมาบอกเล่าแก่ทนายโจทก์ไม่ตรงความจริง ทนายโจทก์ก็มีโอกาสใช้ดุลพินิจไตร่ตรองแล้วจึงตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 เช่นนี้ จะอ้างว่าเป็นการทำไปโดยจำเลยที่ 2 ฉ้อฉลหาได้ไม่

พิพากษายืน

Share