คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยที่ 3 ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารโดยใช้รถแท็กซี่ ต. เจ้าของรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ ได้ทำสัญญานำรถเข้าร่วมกิจการของจำเลยที่ 3 โดยชำระเงินให้จำเลยที่ 3 จำนวน 150 บาท และโอนทะเบียนรถเป็นชื่อจำเลยที่ 3 ทั้งพ่นสีตรารถเป็นของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ยังได้รับประโยชน์ตอบแทนอีกเดือนละ 70 บาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 34(พ.ศ.2513) ข้อ 5 และฉบับที่ 36(พ.ศ.2519) ข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ.2473 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุกำหนดให้บริษัทจำเลยที่3 มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อประกอบการเดินรถยนต์รับจ้าง(รถแท็กซี่) และต้องไม่ยอมให้ผู้ขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างหรือบุคคลอื่นเช่ารถไปหารายได้ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทจำเลยที่ 3 รับผิดในทางแพ่งจำเลยที่ 3 ทราบข้อกำหนดของกฎกระทรวงนี้ดีทั้งไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือว่า ได้มีการถอนคืนการครอบครองรถไปจากจำเลยที่ 3 คนขับรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ เป็นลูกจ้างของ ต.ถือได้ว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1ได้ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เกิดชนกันกับรถยนต์ที่นายคูณ บุญขันธ์ลูกจ้างที่กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 โดยความประมาททั้งสองฝ่ายเป็นเหตุให้ตึกแถวของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหาย178,090 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างให้การว่า ไม่ได้ขับรถโดยประมาท และตึกแถวที่ถูกรถชนไม่ใช่ของโจทก์ จำเลยที่ 2 รับว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จริงค่าเสียหายโจทก์ไม่เกิน 23,500 บาท จำเลยที่ 3 ว่าโจทก์ไม่เสียหาย

ศาลชั้นต้น พิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย34,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นเงิน 107,352.36 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 36,838.09 บาทและให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยด้วย

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัย ข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คนขับรถแท็กซี่คันเกิดเหตุไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือพนักงานของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3ไม่ต้องร่วมรับผิด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 3 ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารโดยใช้รถแท็กซี่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร นายเต็กเซียะ แซ่ลี้ เจ้าของรถแท็กซี่คันเกิดเหตุได้ทำสัญญานำรถเข้าร่วมกิจการของจำเลยที่ 3 โดยชำระเงินให้จำเลยที่ 3 จำนวน 150 บาท และโอนทะเบียนรถเป็นชื่อจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.3, จ.4ทั้งพ่นสีตรารถเป็นของบริษัทจำเลยที่ 3 ตามภาพถ่ายหมาย จ.13 จำเลยที่ 3 ยังได้รับประโยชน์ตอบแทนอีกเดือนละ 70 บาท กรณีนี้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 34 (พ.ศ.2513)ข้อ 5 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 36 (พ.ศ. 2519) ข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช 2473 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ กำหนดให้บริษัทจำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อประกอบการเดินรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่)บรรทุกคนโดยสารโดยใช้รถยนต์สี่ล้อรับจ้างบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกินเจ็ดคน และต้องไม่ยอมให้ผู้ขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างหรือบุคคลอื่นเช่ารถไปหารายได้ ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทจำเลยที่ 3 รับผิดในทางแพ่ง จำเลยที่ 3 ทราบข้อกำหนดของกฎกระทรวงนี้ดี ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือว่าได้มีการถอนคืนการครอบครองรถไปจากจำเลยที่ 3 ตามหนังสือสัญญานำรถแท็กซี่เข้าร่วม ข้อ 4 ขณะนายเต็กเซียะ นำรถมาเข้าร่วมกิจการกับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2520 ก็ไม่ปรากฏว่าได้เอาไปให้ผู้อื่นเช่า เพิ่งจะอ้างว่า โอนรถให้นางพรรณีและนางพรรณีเอาให้เช่าเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2522 พฤติการณ์เป็นการอ้างเพื่อเลี่ยงความรับผิด เชื่อได้ว่าคนขับรถแท็กซี่เป็นลูกจ้างของนายเต็กเซียะ กรณีถือได้ว่าคนขับรถแท็กซี่คันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิด

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 89,460 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 44,730 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,200 บาท และ 600 บาทแทนโจทก์ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share