คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท ถ้าโจทก์จำเลยไม่มีเจตนาจะผูกพันกันตามสัญญาขายฝาก สัญญานั้นก็เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก
ก่อนทำสัญญาขายฝากก็ดี ขณะทำสัญญาขายฝากก็ดี ภายหลังทำสัญญาขายฝากก็ดีโจทก์จำเลยมิได้ตั้งใจจะผูกพันกันตามสัญญาขายฝาก เป็นเรื่องที่จำเลยต้องการดอกเบี้ยเท่านั้นโดยจำเลยสัญญาจะไม่เอาที่ดินหลุดเป็นสิทธิ ถือได้ว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากอำพรางการจำนอง
การที่นิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งนิติกรรมอันแรกคือสัญญาขายฝากย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี ที่จะไม่ผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น นิติกรรมอันแรกที่ปรากฏออกมานั้นย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา118 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญาจำนองที่ถูกอำพรางไว้โดยนิติกรรมอันแรก ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 118 วรรค 2 เมื่อโจทก์จำเลยมีเจตนาทำสัญญาจำนองแล้วแต่การจำนองไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเรียกไม่ได้ว่าเป็นการจำนอง เป็นเพียงการที่โจทก์กู้เงินจากจำเลย และให้ที่ดินแก่จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน และย่อมถือได้ว่าเอกสารการขายฝากที่โจทก์จำเลยทำไว้ ณสำนักงานที่ดิน เป็นนิติกรรมสัญญากู้เงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์จำเลยนั้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขอนำเงินมาไถ่ถอนที่พิพาท ก็เท่ากับโจทก์ขอชำระหนี้เงินกู้ จำเลยมีหน้าที่รับชำระและคืนที่พิพาทที่เป็นประกันนั้นให้โจทก์ไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดที่ 749โจทก์ได้จำนองที่ดินดังกล่าวไว้กับจำเลยในราคา 23,200 บาท ดอกเบี้ยปีละ 5,200 บาท แต่จำเลยให้ทำเป็นสัญญาขายฝาก และจดทะเบียนต่อพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี เดือนตุลาคม2511 โจทก์ขอไถ่ที่ดินคืนจากจำเลย จำเลยได้นัดไถ่คืนในวันที่ 25 ตุลาคม 2511 แต่จำเลยไม่มาตามนัด ต่อมาได้มีการนัดไถ่คืนอีกหลายครั้ง จำเลยคงไม่มาตามนัด ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2512 จำเลยนัดโจทก์ไปทำสัญญาที่หอทะเบียนที่ดิน เมื่อโจทก์ไปถึง จำเลยบอกว่าได้ยื่นคำร้องไว้แล้ว ให้โจทก์ไปชำระเงินค่าธรรมเนียมต่อเจ้าหน้าที่เมื่อโจทก์เสียเงินค่าธรรมเนียมแล้ว จึงทราบว่าเป็นคำขอแบ่งที่ดินให้โจทก์ โจทก์ไม่ยินยอม จึงไม่ได้แบ่งตามคำขอนั้น โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินตลอดมาโจทก์ไม่มีทางจะไถ่ที่ดินคืนจากจำเลยได้ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการ

จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ตกลงขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับจำเลย ไม่ใช่จำนอง ในระหว่างสัญญา 1 ปี โจทก์ไม่เคยติดต่อขอไถ่ที่พิพาทคืนจากจำเลย ที่พิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะไถ่ที่พิพาทจากจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ โจทก์จำเลยได้จดทะเบียนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งโจทก์นำสืบว่า ก่อนทำสัญญาขายฝากและขณะที่ทำก็ดี หรือภายหลังก็ดี โจทก์และจำเลยไม่มีเจตนาจะผูกพันกันตามสัญญาขายฝากนั้น ถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์อ้างนิติกรรมขายฝากนี้ก็เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก ฟังได้ว่า ก่อนที่จะทำสัญญาขายฝากก็ดี ขณะทำสัญญาขายฝากก็ดี ภายหลังที่ทำสัญญาขายฝากแล้วก็ดี โจทก์จำเลยมิได้ตั้งใจจะผูกพันกันตามสัญญาขายฝาก เป็นเรื่องที่จำเลยต้องการดอกเบี้ยเท่านั้น โดยจำเลยสัญญาจะไม่เอาที่พิพาทหลุดเป็นสิทธิ ถือได้ว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทไว้กับจำเลยเป็นการอำพรางการจำนองศาลฎีกาเห็นว่า การที่นิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง นิติกรรมอันแรกคือสัญญาขายฝากย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น นิติกรรมอันแรกที่ปรากฏออกมานั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญาจำนองที่ถูกอำพรางไว้โดยนิติกรรมอันแรกนั้น ต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 118 วรรค 2 เมื่อโจทก์จำเลยมีเจตนาทำสัญญาจำนองกันแล้ว แต่การจำนองไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเรียกไม่ได้ว่าเป็นการจำนอง เป็นเพียงการกู้เงินที่โจทก์กู้จากจำเลย และให้ที่ดินแก่จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน และย่อมถือได้ว่าเอกสารการขายฝากที่โจทก์จำเลยทำไว้ ณ สำนักงานที่ดิน เป็นนิติกรรมสัญญากู้เงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์จำเลยนั้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขอนำเงินมาไถ่ถอนที่พิพาท ก็เท่ากับโจทก์ขอชำระหนี้เงินกู้จำเลยก็มีหน้าที่รับชำระและคืนที่พิพาทที่เป็นประกันนั้นให้โจทก์ไป พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยรับเงินไถ่ถอนที่พิพาทจากโจทก์ 23,200 บาท

Share