แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คู่ความยอมรับกันว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องนำสืบกันต่อไปคงขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเพียงว่าพินัยกรรมสมบูรณ์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น แล้วให้ศาลพิพากษาไปตามรูปคดี จึงเป็นที่เห็นได้ว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างสละประเด็นอื่น รวมทั้งประเด็นที่ว่ามรดกรายนี้มีพินัยกรรมหรือไม่แล้ว อันเป็นการยอมรับว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมฉบับที่จำเลยอ้างจริง เป็นแต่โต้เถียงกันว่าเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น การที่โจทก์ และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ฎีกาว่า พินัยกรรมฉบับนั้นเป็นเพียงร่างพินัยกรรมยังไม่ได้ทำพินัยกรรมตัวจริงขึ้นเลยก็เท่ากับอุทธรณ์ฎีกาว่ามรดกรายนี้ไม่มีพินัยกรรมซึ่งเป็นประเด็นที่คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างสละแล้วนั่นเองโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิยกประเด็นข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างอีกได้
ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนหนึ่งให้บุตรคนหนึ่งแต่บุตรผู้รับพินัยกรรมนั้นตายไปก่อนผู้ทำพินัยกรรมข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพินัยกรรมนั้นจึงเป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1699 ประกอบกับ มาตรา 1620 วรรคสอง ทรัพย์สินดังกล่าวต้องตกทอดแก่ผู้สืบสันดานของบุตรผู้รับพินัยกรรมซึ่งตายไปก่อนผู้ทำพินัยกรรมนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เยาว์ได้รับความยินยอมจากมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมให้ดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง
นายทองหล่อ ดำรงรถการ บิดาโจทก์ เป็นบุตรขุนดำรงรถการนายทองหล่อมีภรรยา 2 คน คนแรกชื่อนางกิมลี้ แคร่น้อย มีบุตรด้วยกัน2 คน คือ จำเลยทั้งสอง คนที่ 2 คือ นางบุญยงค์ ดำรงรถการ มารดาโจทก์ซึ่งสมรสกัน เมื่อนางกิมลี้ตายแล้ว มีบุตรด้วยกัน 17 คน นายทองหล่อตามเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2507 ส่วนขุนดำรงรถการตายเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2508 ขุนดำรงรถการมีทรัพย์มรดกราคาประมาณ 4,000,000 บาทกับเงินที่ได้จากการที่จำเลยทั้งสองให้บุคคลอื่นปลูกสร้างตึกแถวลงในที่ดินโฉนดที่ 2007 เป็นเงิน 855,000 บาท เงินได้จากการขายอิฐหัก 4,500 บาท ทรัพย์มรดกดังกล่าวนี้ตกได้แก่จำเลยทั้งสองกับโจทก์และพี่น้องอีก 17 คน ในฐานะทายาทผู้รับมรดกแทนที่นายทองหล่อ แต่จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินโฉนดที่ 2007 และนายสมพันธ์ ดำรงรถการ เป็นผู้ครอบครองที่ดินโฉนดที่ 1952 โจทก์ทั้งสามขอให้จำเลยทั้งสองและนายสมพันธ์ แบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้นายสมพันธ์ยอมแบ่ง แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม ขอให้ศาลพิพากษาว่า ทรัพย์มรดกตามฟ้องเป็นมรดกตกทอดได้แก่โจทก์จำเลยและโจทก์ร่วมคนละ 1 ใน 19 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ ให้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องออกขายแบ่งให้โจทก์และโจทก์ร่วม โดยประมูลกันระหว่างทายาทก่อน หากไม่ตกลง ให้นำออกขายทอดตลาดแบ่งเงินให้โจทก์และโจทก์ร่วมตามส่วน
จำเลยทั้งสองให้การรับในเรื่องการเป็นทายาท แต่ต่อสู้ว่าขุนดำรงรถการได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 1 มิถุนายน 2484 ยกที่ดินโฉนดที่ 2007 บางส่วนให้จำเลยที่ 1 บางส่วนให้จำเลยที่ 2 และบางส่วนให้นายเล็ก แซ่เบ๊ (ช่วยดำรง) ส่วนที่ดินโฉนดที่ 1952 เฉพาะส่วนของขุนดำรงรถการยกให้นายทองหล่อ ดำรงรถการ พร้อมทั้งโรงเรือน โรงงาน และเครื่องอุปกรณ์ เมื่อขุนดำรงรถการตายแล้วได้มีการเปิดพินัยกรรมโดยนางบุญยงค์ มารดาโจทก์และโจทก์ร่วมทราบแล้ว มิได้คัดค้านประการใด ต่อมาบรรดาทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และนางบุญยงค์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของขุนดำรงรถการและนายทองหล่อ ซึ่งจำเลยทั้งสองยอมสละส่วนได้ในที่ดินโฉนดที่ 1952 ให้โจทก์และทายาทอื่นอันเป็นบุตรของนางบุญยงค์ และได้ยอมให้ลงชื่อนายสมพันธ์ ดำรงรถการ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาทฝ่ายโจทก์ แม้จะฟังว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่สมบูรณ์เพราะโจทก์บอกล้าง และแม้นายทองหล่อจะตายไปก่อนข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมที่ยกที่ดินให้นายทองหล่อจะตกไป ต่อมาเมื่อขุนดำรงรถการตาย ทรัพย์สินนั้นก็ตกแก่ทายาทโดยธรรม แต่ตามพินัยกรรมข้อ 6 ได้บอกตัดทายาทอื่น ๆ นอกจากที่ระบุนามไว้และห้ามมิให้ฟ้องร้องเรียกทรัพย์มรดก ในพินัยกรรมมิได้ระบุนามโจทก์ไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับมรดก ขอให้ศาลยกฟ้อง
ผู้ร้องทั้ง 14 คนซึ่งเป็นบุตรนายทองหล่อ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลสั่งอนุญาต
วันชี้สองสถาน คู่ความแถลงว่า ในเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้ระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดกับจำเลยเป็นอันยกเลิกทั้งหมดไม่มีผลบังคับต่อกัน และต่างรับกันว่าทุกฝ่ายเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกด้วยกัน คดีจึงมีประเด็นว่า 1. มรดกรายนี้มีพินัยกรรมดังจำเลยต่อสู้หรือไม่ 2. พินัยกรรมข้อ 6ตัดสิทธิผู้อื่นมิให้ฟ้องหรือไม่ หลังจากตรวจพินัยกรรมแล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมประเด็นใหม่อีก 2 ข้อ คือ 1. ลายเซ็นของขุนดำรงรถการในหนังสือพินัยกรรมใช่ลายเซ็นของขุนดำรงรถการหรือไม่ 2. พินัยกรรมฉบับนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลอนุญาตและบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ประเด็นที่เพิ่มเติมข้อ 1 คู่ความไม่ต้องนำสืบ ให้ถือตามผลของรายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ ประเด็นข้อ 2 เป็นปัญหาข้อกฎหมาย คู่ความตกลงกันให้จำเลยฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายพิสูจน์ตามคำแถลงของจำเลย เมื่อกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจแจ้งผลการพิสูจน์ให้ทราบแล้ว ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าคู่ความไม่มีอะไรที่จะต้องนำสืบ คงขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า พินัยกรรมสมบูรณ์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมที่ขุนดำรงรถการทำขึ้นเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์และโจทก์ร่วมเสียค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความ 50,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า เอกสารที่ขุนดำรงรถการทำขึ้นเป็นเพียงร่างว่าจะทำพินัยกรรมมีข้อความอย่างใดเท่านั้น มิใช่เป็นตัวพินัยกรรม และข้อความที่มีการแก้ไขขีดฆ่าตกเติม ก็เป็นข้อความสำคัญ เมื่อขุนดำรงรถการไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ พินัยกรรมจึงเป็นโมฆะ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่าพินัยกรรมสมบูรณ์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เท่านั้นซึ่งเท่ากับโจทก์และโจทก์ร่วมสละข้ออ้างที่ว่าขุนดำรงรถการมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงร่างพินัยกรรม ไม่ใช่ตัวพินัยกรรม ก็เท่ากับอุทธรณ์ว่า ขุนดำรงรถการมิได้ทำพินัยกรรมไว้ เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นที่โจทก์และโจทก์ร่วมสละแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย และเห็นว่าพินัยกรรมที่ขุนดำรงรถการทำขึ้นเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษายืน ให้โจทก์และโจทก์ร่วมเสียค่าทนายความชั้นอุทธรณ์หนึ่งหมื่นบาทแทนจำเลย
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างสละประเด็นอื่น รวมทั้งประเด็นที่ว่ามรดกรายนี้มีพินัยกรรมหรือไม่แล้ว อันเป็นการยอมรับว่าขุนดำรงรถการได้ทำพินัยกรรมฉบับที่จำเลยอ้างจริงเป็นแต่โต้เถียงกันว่าเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น การที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ฎีกาว่า พินัยกรรมฉบับนั้นเป็นเพียงร่างพินัยกรรม ยังไม่ได้ทำพินัยกรรมตัวจริงขึ้นเลย ก็เท่ากับอุทธรณ์ฎีกาว่ามรดกรายนี้ไม่มีพินัยกรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างสละแล้วนั่นเองโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิยกประเด็นนี้ขึ้นกล่าวอ้างอีกได้ แต่ตามพินัยกรรมข้อ 3 ระบุว่า “ที่ดินโฉนดที่ 1952 ถนนจรัสเมือง ตำบลรองเมือง จังหวัดพระนคร ยกให้แก่นายทองหล่อ แคร่น้อย บุตรข้าพเจ้าพร้อมทั้งโรงเรือน และโรงงานเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมด”ปรากฏว่านายทองหล่อ แคร่น้อย (หรือ ดำรงรถการ) ตายก่อนขุนดำรงรถการผู้ทำพินัยกรรม ข้อกำหนดเกี่ยวกับที่ดินโฉนดที่ 1952 จึงเป็นอันตกไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1699 ประกอบกับมาตรา 1620 วรรค 2 คือต้องตกทอดแก่ทายาทของขุนดำรงรถการ ซึ่งได้แก่นายทองหล่อ แต่นายทองหล่อตายไปก่อนแล้ว โจทก์โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของนายทองหล่อจึงเข้ารับมรดกแทนที่เฉพาะที่ดินโฉนดที่ 1952 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639
พิพากษาแก้ ให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ 1952 พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของขุนดำรงรถการครึ่งหนึ่ง (ตามฟ้อง) ออกเป็น 19 ส่วนให้โจทก์โจทก์ร่วมและจำเลยได้รับคนละหนึ่งส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ ก็ให้ประมูลกันเองหรือขายทอดตลาดแบ่งเงินกันตามส่วน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นสมควรให้เป็นพับ