แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อความว่า จำเลยแสดงเจตนาสละสิทธิและการครอบครอง ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์เข้าครอบครองต่อไป และโจทก์สัญญาจะจ่ายเงินผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินนั้นให้แก่จำเลยหนึ่งในสามจนตลอดชีวิตของจำเลย เป็นสัญญาซึ่งจำเลยมีเจตนายกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้โจทก์โดยเสน่หา โดยโจทก์มิได้เสียค่าตอบแทนแต่ประการใด แต่จำเลยคงสงวนผลประโยชน์อันเกิดจากทรัพย์สินนั้นไว้เพียงบางส่วนเพื่อใช้สอยในระหว่างที่จำเลยยังมีชีวิตอยู่ ข้อความในสัญญาที่ว่าจำเลยสละการครอบครองให้โจทก์เข้าครอบครองต่อไป คงมีความหมายเพียงว่าจำเลยส่งมอบทรัพย์สินให้โจทก์อันเป็นการปฏิบัติตามสัญญาให้เท่านั้น เมื่อทรัพย์สินที่ให้เป็นที่ดินมีโฉนดการให้จึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้จะฟังว่าเป็นคำมั่นจะให้ก็ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกัน เมื่อไม่จดทะเบียน นิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ
การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ไม่จำต้องจดทะเบียน การจดทะเบียนตามมาตรา 1299 วรรคสอง จะพึงกระทำต่อเมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนหรือจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเท่านั้น
สัญญาต่างตอบแทนซึ่งเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จึงจะ ฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญานั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เนื่องจากคำพิพากษาฎีกาที่ 46/2501 พิพากษาว่าที่ดินโฉนดที่ 1634, 1635, 253, 254, 2209, 2210 พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง เป็นของเด็กหญิงกมลพันธ์ ชมเสวี แต่ผู้เดียว นางทองสุกชมเสวี ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงกมลพันธ์ จึงยื่นฟ้องจำเลยนี้ให้ส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดซึ่งจำเลยเป็นผู้รักษาไว้แทน ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า จำเลยครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า 30 ปี พิพากษายกฟ้องของนางทองสุก จำเลยได้ติดต่อขอให้นางทองสุกระงับการอุทธรณ์ โดยตกลงกันว่า นางทองสุกยอมสละสิทธิอุทธรณ์ จำเลยยอมสละการครอบครองที่ดินตามคำพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้ครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของตามสัญญาลงวันที่ 19 มกราคม 2506และมีข้อตกลงระหว่างโจทก์ จำเลยกับนางทองสุกด้วยว่า โจทก์ต้องรับอุปการะเลี้ยงดูนางทองสุกและเด็กหญิงกมลพันธ์ให้มีความเจริญผาสุขเข้าลักษระเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งต่างฝ่ายต่างจะต้องปฏิบัติต่อกัน โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินต่อจากจำเลยเกินกว่า 10 ปีแล้วย่อมได้กรรมสิทธิ์ แต่จำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ภายในเวลาอันสมควรตามสัญญา ขอให้ศาลพิพากษาว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์ จำเลยกับนางทองสุกมีผลตามกฎหมาย โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดทั้ง 6 ฉบับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 1634, 1635 แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ ส่วนที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 253, 254, 2209, 2210 ซึ่งถูกเวนคืน ห้ามมิให้จำเลยขัดขวางในการที่โจทก์จะรับหรือเรียกร้องค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ฟ้องโดยการครอบครองและโดยผลแห่งคำพิพากษาของศาลโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่จำต้องไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งทรัพย์สิทธิหนังสือสัญญายกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทำให้โจทก์ตามสำเนาท้ายฟ้อง เกิดจากการข่มขู่บีบบังคับของโจทก์ จำเลยไม่ได้สละละทิ้งการครอบครองที่พิพาท ที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินมือเปล่า แต่เป็นที่มีโฉนด จึงนำมาตรา 1377, 1378 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับไม่ได้ สัญญาท้ายฟ้องมีวัตถุประสงค์เพียงให้โจทก์เป็นผู้จัดการเก็บผลประโยชน์และแบ่งเอาไปบางส่วน ไม่ใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์โอนการครอบครองตามกฎหมาย การโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์เป็นการให้โดยเสน่หาต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ โจทก์เพียงแต่ครอบครองแทนจำเลยและครอบครองในระยะเวลาสั้น จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท โจทก์กระทำไม่สุจริต จำเลยได้บอกเลิกเพิกถอนข้อตกลงตามสัญญาท้ายฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิตามสัญญา ทรัพย์รายพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยไม่เคยขอร้องโจทก์หรือนางทองสุก ชมเสวี ให้ระงับการอุทธรณ์โดยมีข้อตกลงตามที่โจทก์อ้าง สัญญาท้ายฟ้องไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว”ประเด็นสำคัญตามฎีกาของโจทก์อยู่ที่การตีความสัญญาซึ่งโจทก์อ้างเป็นมูลฐานฟ้องคดีนี้ว่าเป็นเรื่องการให้อสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นการสละสิทธิครอบครองข้อความในสัญญาท้ายฟ้องมีว่า “ฯลฯ บัดนี้นางสาวบุตรี กรลักษณ์ ได้แสดงเจตนาสละสิทธิและการครอบครองด้วยการยกกรรมสิทธิ์พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างตามที่กล่าวข้างต้นให้นายแพทย์บรรจง กรลักษณ์ น้องนางสาวบุตรี กรลักษณ์ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ด้วยการโอนการครอบครองให้นายแพทย์บรรจง กรลักษณ์ เข้าครอบครองต่อไปภายในเงื่อนไขที่นายแพทย์บรรจง กรลักษณ์ให้ไว้ คือ นายแพทย์บรรจง กรลักษณ์ ยอมรับเอาซึ่งกรรมสิทธิ์และเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อจากนางสาวบุตรี กรลักษณ์ ได้ครอบครองมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1385 และให้คำมั่นสัญญารับรองว่า นายแพทย์บรรจง กรลักษณ์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้มาจากทรัพย์สินนี้ให้นางสาวบุตรี กรลักษณ์หนึ่งในสามตลอดชีวิตของนางสาวบุตรี กรลักษณ์ ฯลฯ คู่สัญญาจะได้ไปจะทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กล่าวภายในเวลาอันสมควร ฯลฯ” ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อสัญญาดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเป็นกรณีที่จำเลยมีเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้โจทก์โดยเสน่หา โดยที่โจทก์มิได้เสียค่าตอบแทนแต่ประการใด จำเลยคงสงวนผลประโยชน์อันเกิดจากทรัพย์เหล่านั้นไว้เพียงบางส่วนเพื่อใช้สอยในระหว่างที่จำเลยยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ตกลงยอมรับเอาทรัพย์รายพิพาทตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ โดยไม่มีข้อท้วงติง สัญญานี้จึงเป็นสัญญาให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 521 แม้ข้อความในสัญญาจะมีว่าจำเลยสละการครอบครองโอนการครอบครองให้โจทก์เข้าครอบครองต่อไป ก็คงมีความหมายว่า จำเลยส่งมอบทรัพย์สินให้โจทก์อันเป็นการปฏิบัติตามสัญญาให้นั่นเอง เมื่อทรัพย์พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด การให้จึงต้องทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 แม้จะฟังว่าสัญญาท้ายฟ้องเป็นเพียงคำมั่นจะให้ ก็ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกัน เมื่อข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนย่อมไม่สมบูรณ์ นิติกรรมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 115 ทรัพย์พิพาทยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โจทก์จะฟ้องให้จำเลยส่งมอบทรัพย์พิพาทให้โจทก์ หรือบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้โจทก์ตามมาตรา 526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีเพียงสิทธิครอบครอง ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ เพราะจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนการได้กรรมสิทธิ์โดยแก้ทะเบียนในโฉนดเป็นชื่อจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของเกิน 10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนการได้กรรมสิทธิ์ดังที่โจทก์ฎีกา การจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรค 2 จะพึงกระทำต่อเมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเท่านั้น และไม่ขัดแย้งกับคำพิพากษาฎีกาที่ 46/2501 ตามที่โจทก์ฎีกา เพราะคำพิพากษาฎีกาคดีนั้นชี้ขาดว่า เด็กหญิงกมลพันธ์ ชมเสวี มีสิทธิรับมรดกของนายกมล ชมเสวี แต่ผู้เดียว ส่วนในคดีแพ่งแดงที่ 2960/2504 ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า จำเลยครอบครองทรัพย์พิพาทที่เด็กหญิงกมลพันธ์ ชมเสวี มีสิทธิรับมรดกมาเกินกว่า 30 ปีโดยเจตนาเป็นเจ้าของจึงได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นดุจกัน
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์ จำเลย และนางทองสุก ชมเสวี เป็นสัญญาต่างตอบแทนไม่จำต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หนังสือที่โจทก์อ้างว่าได้ทำให้นางทองสุกไว้รับรองว่าจะอุปการะเลี้ยงดูนางทองสุกกับบุตรสาว เดิมโจทก์อ้างว่านางทองสุกยังหาหนังสือฉบับนั้นไม่พบ แต่ภายหลังโจทก์ได้แนบสำเนาสัญญาข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนางทองสุก ชมเสวี ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2504 มาพร้อมคำแถลงการณ์ของโจทก์ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2514 ถ้าหากมีจริงก็เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนางทองสุกโดยเฉพาะไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย จำเลยมิได้ลงชื่อรับรู้ไว้ในสัญญาข้อตกลงฉบับนั้นจึงไม่ผูกพันจำเลย บังคับจำเลยตามข้อตกลงนั้นไม่ได้ เพราะลักษณะของข้อตกลงนั้น แม้จะเป็นสัญญาต่างตอบแทน แต่ก็เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งจำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้รับผิด จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญานั้นได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน