แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของการไฟฟ้านครหลวงจำเลยที่ 1 ระบุความรับผิดชอบของผู้ใช้ไฟฟ้าไว้ว่าจะต้องรับผิดชอบชำระค่าไฟฟ้าจนกว่าจะแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรบอกเลิกหรือโอนการใช้ไฟฟ้าให้จำเลยที่ 1ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าขอให้จำเลยที่ 1 งดจ่ายกระแสไฟฟ้าชั่วคราวสำหรับตึกแถวของโจทก์ที่ให้บุคคลอื่นเช่าจึงไม่เป็นการบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าตามข้อบังคับดังกล่าวหามีผลให้จำเลยที่ 1 จำต้องปฏิบัติตามแต่ประการใดไม่ โจทก์ต้องรับผิดชอบชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ได้ใช้ไปในตึกแถวดังกล่าวการกระทำของจำเลยที่ 1ย่อมไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาโจทก์มิได้กล่าวให้ชัดแจ้งว่าเอกสารหมาย ล.2 ส่ง เข้ามาใน สำนวนโดยผิดกฎหมายอย่างไรเพียงแต่โจทก์กล่าวอ้างขึ้นลอยๆมิได้อ้างอิงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นโต้เถียงในประเด็นข้อพิพาทไว้ โดยชัดแจ้งในฎีกาจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ใช้กระแสไฟฟ้าตามเครื่องวัดหมายเลขพิเศษ ซี 2424ติดตั้งสำหรับตึกแถวเลขที่ 505-507 ถนนมหาไชย กรุงเทพมหานคร ต่อมาโจทก์ให้บุคคลอื่นเข้าใช้ตึกแถวดังกล่าว ผู้ใช้สถานที่ใช้ไฟฟ้าแล้วไม่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์ชำระแทนไป โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยให้งดจ่ายกระแสไฟฟ้า จำเลยทั้งสามกลับเพิกเฉยยังคงจ่ายกระแสไฟฟ้าต่อไป เมื่อผู้ใช้สถานที่หลบหนีไปแล้วโจทก์ต้องยอมจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าให้จำเลยที่ 1 จำนวน 1,534.70 บาท โดยการบีบบังคับเพราะจำเลยเป็นผู้ผูกขาดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแต่ผู้เดียว การกระทำของจำเลยถือได้ว่าร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ได้ปฏิบัติการตามข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าแล้ว เมื่อไม่มีการบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าหรือไม่ชำระค่ากระแสไฟฟ้า จำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจงดจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 997 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าโจทก์เป็นผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ตามเครื่องวัดเลขที่พิเศษ ซี 2524 ที่ตึกแถวเลขที่ 505-507 กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ได้วางเงินประกันไว้จำนวน 10,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 1 งดจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับเครื่องวัดดังกล่าวเป็นการชั่วคราว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าแทนผู้เช่าตึกแถวของโจทก์ดังกล่าว ปัญหาว่าตามที่ได้ความดังกล่าวนั้นเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 กิจการของจำเลยที่ 1 เป็นกิจการสาธารณูปโภค มีข้อบังคับกำหนดไว้ชัดแจ้งเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้กระแสไฟฟ้าทั่วไป ซึ่งระบุความรับผิดชอบของผู้ใช้ไฟฟ้าไว้ว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ไฟฟ้าได้ตามที่ร้องขอไว้ จะต้องรับผิดชอบชำระค่าไฟฟ้าทั้งสิ้นที่ใช้ไปในสถานที่ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงได้ต่อสายจำหน่ายไฟฟ้าให้ตลอดไปจนกว่าจะแจ้งบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าหรือโอนการใช้ไฟฟ้าให้ผู้อื่น ให้การไฟฟ้านครหลวงทราบเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว การบอกเลิกหรือโอนการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวต้องแจ้งให้การไฟฟ้านครหลวงทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 งดจ่ายกระแสไฟฟ้าชั่วคราวสำหรับตึกแถวของโจทก์ที่ให้บุคคลอื่นเช่านั้น จึงไม่เป็นการบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าตามข้อบังคับดังกล่าวมา ฉะนั้นตราบใดที่โจทก์ยังมิได้บอกเลิกการไฟฟ้าหรือโอนการไฟฟ้าในตึกแถวดังกล่าวให้แก่ผู้อื่น ให้จำเลยที่ 1ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว โจทก์ก็ต้องรับผิดชอบชำระค่ากระแสไฟฟ้าทั้งสิ้นที่ใช้ไปในตึกแถวดังกล่าวนั้น ไม่ว่าโจทก์จะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าเองหรือผู้เช่าตึกแถวนั้นเป็นผู้ใช้ก็ตาม คำบอกกล่าวของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 งดจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นการชั่วคราวหามีผลให้จำเลยที่ 1 จำต้องปฏิบัติตามแต่ประการใดไม่ โจทก์ต้องรับผิดชอบชำระค่ากระแสไฟฟ้าทั้งสิ้นที่ได้ใช้ไปในตึกแถวดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าเอกสารหมาย ล.2 เป็นเอกสารที่ส่งเข้ามาในสำนวนโดยผิดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้นั้น ฎีกาของโจทก์มิได้กล่าวให้ชัดแจ้งว่าเอกสารหมาย ล.2 ส่งเข้ามาในสำนวนโดยผิดกฎหมายอย่างไร เพียงแต่โจทก์กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ ในฎีกา ดังนี้ เห็นว่าโจทก์มิได้อ้างอิงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นโต้เถียงในประเด็นข้อพิพาทไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน