แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลย มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในข้อ 11.01 ตกลงกันให้มีการเสนอข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งตามสัญญาทุกอย่างให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด และตามคำฟ้องของโจทก์ก็ปรากฏอยู่แล้วว่า การที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าจ้างและเงินประกันความบกพร่องของงานเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาก่อสร้างอันเป็นข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามสัญญา และเมื่อเกิดข้อโต้แย้งดังกล่าว แล้วโจทก์ได้ติดต่อทวงถามตามที่คิดว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยก่อน เมื่อจำเลยไม่สนองตอบข้อเรียกร้องของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับตามสิทธิที่โจทก์อ้างว่ามีอยู่เหนือจำเลย ข้อโต้แย้งตามสัญญาก่อสร้างระหว่างโจทก์จำเลยเกิดก่อนการเสนอคำฟ้องต่อศาลแล้ว
ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นต่อศาลก่อนวันสืบพยานให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน จำเลยจึงไม่จำต้องยื่นคำให้การก่อน และเมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ จำเลยก็ต้องยื่นคำให้การเป็นข้อต่อสู้เช่นกันดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจออกคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์จำเลยดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ได้
การที่คู่สัญญาทำสัญญาอนุญาโตตุลาการก็เพื่อให้มีการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเสียก่อน เมื่ออนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยโดยชอบแล้วคำวินิจฉัยในข้อพิพาทนั้นเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการโดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาลให้นำข้อพิพาทนั้นมาพิจารณาพิพากษาอีกเพียงแต่หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อีกฝ่ายก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ
เมื่อคดีมีเหตุที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์จำเลยดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนแล้ว ก็ไม่มีข้อพิพาทในคดีนี้ค้างให้ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอีก การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเด็ดขาดจึงชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาก่อสร้างฉบับพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่า “คู่กรณีจะจัดให้มีการวินิจฉัยข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ระเบียบหอการค้านานาชาติ”ไม่ชัดเจนว่าโจทก์จำเลยจะต้องเสนอข้อพิพาทต่อหอการค้านานาชาติของประเทศใดและใช้กฎหมายประเทศใดวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทคดีนี้ข้อสัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะนั้น ชั้นไต่สวนของศาลชั้นต้น ทนายโจทก์แถลงว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เพราะเห็นว่าไม่ใช่ข้อพิพาทตามสัญญาซึ่งต้องตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดแต่หลังจากฟ้องคดีแล้วโจทก์เกิดความไม่มั่นใจว่าจะเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาหรือไม่จึงได้เสนอข้อพิพาทนี้ต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างสวนสนุกแล้วจำเลยปฏิบัติผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าก่อสร้างค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าเงินประกันความบกพร่องของงานพร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน43,168,360.54 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 39,142,065.47บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องว่า สัญญาก่อสร้างตามฟ้องมีข้อตกลงว่าคู่กรณีจะจัดให้มีการวินิจฉัยข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530มาตรา 10
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างสวนสนุกโครงการฟิวเจอร์เวิลด์ ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าก่อสร้าง ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มค่าประกันความบกพร่อง ก่อนยื่นคำให้การจำเลยยื่นคำร้องว่า ตามสัญญาก่อสร้างมีข้อตกลงว่า หากเกิดเหตุพิพาทคู่กรณีจะจัดให้มีการวินิจฉัยข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยยังมิได้ยื่นคำให้การหรือปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ จึงยังไม่ปรากฏข้อต่อสู้หรือข้อโต้แย้งต่อข้อเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่จะต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจึงข้ามขั้นตอนของกฎหมายวิธีพิจารณาความ ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ เห็นว่า ตามสัญญาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลย มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในข้อ 11.01 ว่า “ข้อโต้แย้งใด ๆ ที่เกิดขึ้นจะตกลงกันอย่างฉันมิตร หากตกลงกันไม่ได้ภายใน 120 วัน หลังจากเกิดเหตุพิพาทนั้น คู่กรณีจะจัดให้มีการวินิจฉัยข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ระเบียบของหอการค้านานาชาติ คู่สัญญาตกลงจะถือคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการว่าเป็นเด็ดขาด และผูกพันทั้งสองฝ่าย”แสดงว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้มีการเสนอข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งตามสัญญาทุกอย่างให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด และตามคำฟ้องของโจทก์ก็ปรากฏอยู่แล้วว่า การที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าจ้างและเงินประกันความบกพร่องของงานเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาก่อสร้างดังกล่าวอันเป็นข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามสัญญาและเมื่อเกิดข้อโต้แย้งดังกล่าวแล้วก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ติดต่อทวงถามตามที่คิดว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยก่อน เมื่อจำเลยไม่สนองตอบข้อเรียกร้องขอโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับตามสิทธิที่โจทก์อ้างว่ามีอยู่เหนือจำเลย จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามีข้อโต้แย้งตามสัญญาก่อสร้างดังกล่าวเกิดก่อนการเสนอคำฟ้องต่อศาลและพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นต่อศาลก่อนวันสืบพยาน ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน” จึงเห็นได้ว่าจำเลยไม่จำต้องยื่นคำให้การก่อน และเมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจำเลยก็ต้องยื่นคำให้การเป็นข้อต่อสู้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจออกคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์จำเลยดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ได้
ที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อต่อมาว่า การออกพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ ก็เพื่อให้เป็นวิธีระงับข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ควบคู่กับการพิจารณาโดยศาลยุติธรรมโจทก์ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทคดีนี้ต่ออนุญาโตตุลาการแล้วชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้รอคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ โดยจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวแทนการสั่งจำหน่ายคดีเด็ดขาด เพราะหากอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้จำเลยแพ้คดีแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามโจทก์ก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาลอีก เห็นว่ากรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะการที่คู่สัญญาทำสัญญาอนุญาโตตุลาการก็เพื่อให้มีการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเสียก่อน เมื่ออนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยโดยชอบแล้วคำวินิจฉัยในข้อพิพาทนั้นเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการโดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาลให้นำข้อพิพาทนั้นมาพิจารณาพิพากษาอีก เพียงแต่หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอีกฝ่ายก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ เมื่อคดีนี้มีเหตุที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์จำเลยดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็ไม่มีข้อพิพาทในคดีนี้ค้างให้ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอีกการสั่งจำหน่ายคดีเด็ดขาดจึงชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า สัญญาก่อสร้างข้อ 11.01 ระบุตอนท้ายว่า “คู่กรณีจะจัดให้มีการวินิจฉัยข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ระเบียบหอการค้านานาชาติ” ซึ่งไม่ชัดเจนว่าโจทก์จำเลยจะต้องเสนอข้อพิพาทต่อหอการค้านานาชาติของประเทศใด และใช้กฎหมายประเทศใดวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทคดีนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่า ชั้นไต่สวนทนายโจทก์แถลงว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เพราะเห็นว่าไม่ใช่ข้อพิพาทตามสัญญาซึ่งต้องตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาด แต่หลังจากฟ้องคดีแล้วโจทก์เกิดความไม่มั่นว่าจะเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาหรือไม่ จึงได้เสนอข้อพิพาทนี้ต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน