คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3479/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 4 เคยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนจำเลยที่ 1 แต่ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนก่อนที่โจทก์จะฟ้องห้างจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลาย จำเลยที่ 2 และที่ 4ย่อมมิใช่หุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ในขณะโจทก์ฟ้องคดีและขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแม้จำเลยที่ 2 และที่ 4 มีความรับผิดในฐานะของผู้เป็นหุ้นส่วนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะออกจากหุ้นส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1068 ก็ตาม แต่ถ้าโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าขณะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ก็ไม่มีเหตุที่จะพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 และที่ 4 เด็ดขาด
จำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อห้างจำเลยที่ 1ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ฟ้องทั้งห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5ผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมกับหุ้นส่วนอื่น ๆ ให้ล้มละลายศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วเช่นนี้โจทก์ก็ไม่จำต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 5 ผู้เป็นหุ้นส่วนมีหนี้สินล้นพ้นตัวด้วย กรณีมีเหตุที่จำเลยที่ 5จะต้องล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่จำเป็นต้องมีคำขอให้จำเลยที่ 5ล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 โดยอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483มาตรา 89 อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นหุ้นส่วน โดยจำเลยที่ 4 และี่ 5 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และจำเลยที่ 3 ได้เข้าร่วมจัดการงานของห้างจำลเยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 6 เปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารการตโอเวอร์ซีส์ จำกัด และมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 กระทำการแทนรวมทั้งสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์และเจ้าหนี้ทั้งหลายจำเลยที่ 6 จึงมีหน้าที่ร่วมรับผิดต่อโจทก์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2524 จำเลยที่ 1ซื้อผ้าจากโจทก์เป็นเงิน 697,812 บาท 50 สตางค์ โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 6 สั่งจ่ายเช็คของจำเลยที่ 6 จำนวนเงินเท่ากับราคาผ้าดังกล่าวชำระให้โจทก์ แต่โจทก์รับเงินไม่ได้เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทวงถามแล้ว จำเลยทั้งหกเพิกเฉย จำเลยที่ 3 หลบหนีไปจากสถานีที่ประกอบธุรกิจและภูมิลำเนา ต่อมาห้างจำเลยที่ 1 หยุดกิจการงดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลยทรัพย์สินของจำเลยบที่ 6 ก็ไม่พอชำระหนี้ตามพฤติการณ์ถือได้ว่า จำเลยทั้งหกมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งหกเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ให้การว่า หนี้ตามฟ้องจำเลยที่ 3 กระทำไปส่วนตัวไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 หลักฐานที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นความเท็จ จำเลยไม่ใช่บุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5เด็ดขาดยกฟ้องจำเลยที่ 6

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 4และที่ 5 นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 เคยเป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 แต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครให้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 แล้ว เพราะเหตุที่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นอันเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 4ย่อมมิใช่หุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้และขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างจำเลยที่ 1 เด็ดขาด แม้จำเลยทั้งสองมีความรับผิดในฐานะของผู้เป็นหุ้นส่วนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงไม่มีเหตุที่จะพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 และที่ 4 เด็ดขาด ส่วนจำเลยที่ 5 นั้นปรากฏว่า ในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้และขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างจำเลยที่ 1เด็ดขาด จำเลยที่ 5 เป็นหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 เมื่อห้างจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้โจทก์ได้ฟ้องทั้งห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมกับหุ้นส่วนอื่น ๆให้ล้มละลายซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว การที่จำลเยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนและจำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเช่นนี้โจทก์ก็ไม่จำต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 5 มีหนี้สินล้นพ้นตัวด้วย กรณีมีเหตุที่จำเลยที่ 5จะต้องล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่จำเป็นต้องมีคำขอให้จำเลยที่ 5ล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 โดยอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 89 อีก

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 5 เด็ดขาดตามคำสั่งศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share