คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395/2529

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บิดาของผู้ร้องโอนหุ้นให้แก่ผู้ร้องโดยที่ผู้ร้องมิได้โต้แย้งหรือปฏิเสธการโอนหุ้น ถือได้ว่าผู้ร้องรับโอนหุ้นไว้โดยเจตนายึดถือเพื่อตน ย่อมได้สิทธิครอบครอง เมื่อผู้ร้องครอบครองหุ้นตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี ดังนี้แม้การโอนหุ้นจะเป็นโมฆะ ผู้ร้องก็ได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองแล้ว ผู้ร้องจึงต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบ.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย (ลูกหนี้) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2522 ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบว่าผู้ร้องเป็นหนี้ค่าหุ้นของบริษัทลูกหนี้คิดเป็นเงิน 500,000 บาท จึงมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ร้องให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
ผู้ร้องร้องว่า ไม่เคยทำหนังสือและลงลายมือชื่อเป็นผู้รับโอนหุ้นของบริษัทลูกหนี้ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น ไม่มีหน้าที่ชำระค่าหุ้นที่ค้าง ไม่เคยรู้จักผู้โอนหุ้นให้ผู้ร้อง การโอนหุ้นมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับ เป็นโมฆะ ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเงิน 500,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10ธันวาคม 2522 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาได้ความว่านายถวัลย์บิดาผู้ร้องกับนายประสิทธิ์ วรจินดา กรรมการบริษัทลูกหนี้ลงชื่อรับรองบัญชีผู้ถือหุ้น เอกสารหมาย จ.พ.ท. 1 และข้อความในเอกสารดังกล่าวตรงกับบัญชีผู้ถือหุ้นที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมายังศาลชั้นต้น บิดาผู้ร้องเป็นผู้จัดการบริษัทลูกหนี้ และเมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าบัญชีผู้ถือหุ้น เอกสารหมาย จ.พ.ท. 1 มีข้อความอย่างเดียวกันกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ ผู้ร้องก็มิได้ฎีกาโต้แย้งในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า เอกสารหมาย จ.พ.ท. 1มีข้อความอย่างเดียวกันกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้เมื่อข้อความในเอกสารหมาย จ.พ.ท. 1 ระบุว่า ผู้ร้องนายถวัลย์บิดาผู้ร้องกับนางรุจีภรรยานายถวัลย์อยู่แห่งเดียวกัน ณ บ้านเลขที่135 ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ในขณะเบิกความผู้ร้องรับว่ายังคงทำสวนยางอยู่ที่ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยยอดอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และปรากฎว่าขณะเบิกความผู้ร้องอายุ 38 ปีแล้ว เมื่อคิดย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2513 ในวันประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ ตามเอกสารหมาย จ.พ.ท. 1 ผู้ร้องมีอายุ25 ปี บรรลุนิติภาวะแล้ว อยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์สามารถประกอบอาชีพได้ด้วยตนเอง ยังได้ความตามคำเบิกความของผู้ร้องอีกว่า ผู้ร้องประกอบอาชีพทำสวนยางที่จังหวัดตรังในที่ดินเนื้อที่ 2,000 ไร่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 นับว่ากิจการของผู้ร้องกว้างขวางใหญ่โตซึ่งในปีเดียวกันนั้นตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ก็ระบุว่าผู้ร้องได้รับโอนหุ้นมา 20,000 หุ้น ซึ่งเป็นหุ้นที่คิดเป็นเงินมิใช่น้อย ปรากฎตามคำให้การชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายถวัลย์บิดาผู้ร้องเอกสารหมาย จ.พ.ท. 4 ว่าในขณะนั้นกิจการของบริษัทลูกหนี้ดำเนินไปด้วยดี เงินทุนของบริษัทลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นของนายถวัลย์บิดาผู้ร้อง เห็นว่า การระบุชื่อนายถวัลย์บิดาผู้ร้องนางรุจีภรรยานายถวัลย์ และระบุชื่อผู้ร้องว่าเป็นผู้รับโอนหุ้นมาจากบุคคลต่าง ๆ บิดาผู้ร้องคงจะเห็นว่ากิจการของบริษัทลูกหนี้กำลังจะเจริญรุ่งเรือง การได้รับหุ้นมาเป็นจำนวนมากย่อมเป็นสิ่งที่น่ายินดี เป็นธรรมดาที่บิดาผู้ร้องต้องแจ้งเรื่องเช่นนี้ให้ผู้ร้องทราบ ในฐานะที่ผู้ร้องเป็นบุตรและอยู่บ้านเดียวกัน ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะต้องปกปิดเรื่องเช่นนี้ และก็ไม่มีเหตุผลใด ๆที่ผู้ร้องจะโต้แย้งปฏิเสธไม่ยอมรับหุ้นนั้น ในเมื่อการได้หุ้นมาในขณะนั้นเห็นได้ชัดว่ามีแต่ทางดีไม่เสียหาย บุคคลธรรมดาทั่วไปย่อมจะยินยอมรับไว้ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องและบิดาผู้ร้องฟังได้ว่าผู้ร้องทราบว่าได้รับโอนหุ้นของบริษัทลูกหนี้มาเป็นของผู้ร้องในวันประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ คือเมื่อวันที่ 30 เมษายน2513 ตามเอกสารหมาย จ.พ.ท. 1 แล้ว แม้การโอนหุ้นจะกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อฟังว่าผู้ร้องรู้เห็นมิได้โต้แย้งปฎิเสธการโอนหุ้นนั้น จึงถือได้ว่าผู้ร้องรับหุ้นนั้นไว้ โดยเจตนายึดถือเพื่อตนย่อมได้สิทธิครอบครอง เมื่อนับแต่วันที่ผู้ร้องครองครองหุ้น คือวันที่ 30 เมษายน 2513 จนถึงวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงค่าหุ้นส่วนที่เหลือเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี หากการโอนหุ้นเป็นโมฆะ ผู้ร้องก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจึงต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นส่วนที่ยังชำระไม่ครบตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงถาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นจำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ฎีกาเอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share