คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3189/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54กำหนดว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนและหากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นเหตุให้สูญเสียอวัยวะของร่างกายหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะไปเพียงบางส่วน ก็ให้คิดค่าทดแทนเทียบอัตราส่วนตามข้อกำหนดของกระทรวงมหาดไทยเห็นได้ว่าค่าทดแทนนี้นอกจากเป็นการบังคับให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในกรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะแล้ว ยังให้ทดแทนในกรณีที่ลูกจ้างได้สูญเสียอวัยวะของร่างกายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างด้วยและประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้มีเจตนารมณ์คุ้มครองลูกจ้างโดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานเพื่อทดแทนการสูญเสียเหล่านั้นโดยตรงมิใช่ให้จ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทุกข์ยากของลูกจ้างในระหว่างที่ไม่สามารถทำงานได้
ค่าทดแทนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสามารถคำนวณเป็นจำนวนเงินแน่นอนได้ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดการจ่ายค่าทดแทน เพียงแต่กำหนดให้มีระยะเวลาการจ่ายไว้ตามประเภทการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานโดยสิ้นเชิงเท่านั้น หากลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันได้นายจ้างอาจจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนก็ได้การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนนั้น เป็นเพียงการผ่อนคลายภาระของนายจ้างและเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างและครอบครัวในการครองชีพมิให้เดือดร้อนระหว่างที่ปฏิบัติงานไม่ได้เท่านั้น
ลูกจ้างถูกตู้บรรจุสินค้าทับมือขวากระดูกหัก 4 นิ้ว ในขณะทำการขนส่งสินค้าให้นายจ้างต่อมาลูกจ้างถึงแก่ความตายด้วยโรคตับและไตวายสิทธิเรียกร้องในเงินทดแทนเพราะเหตุที่ต้องสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะและค่าสูญเสียอวัยวะของร่างกาย ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่คำนวณได้แน่นอนมิใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของลูกจ้างแต่เป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาท
โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์เพียงผู้เดียวมิได้ขอให้จ่ายแก่ทายาทของผู้ตายด้วยเงินทดแทนรายนี้เป็นมรดกตกแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท ซึ่งทายาทแต่ละคนอาจเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298 หากจะมีทายาทอื่นที่มีสิทธิได้รับมรดกรายนี้ก็เป็นกรณีที่จะต้องไปเรียกร้องกับโจทก์ต่อไปที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่ทายาทของลูกจ้างผู้ตายด้วยจึงนอกคำขอของโจทก์
พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือน การผิดนัดของจำเลยย่อมเกิดขึ้นในแต่ละเดือนที่จำเลยมีหน้าที่จ่ายเงินทดแทน มิใช่ตกเป็นผู้ผิดนัดในยอดเงินค่าทดแทนทั้งจำนวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของนายลด เพบขุนทด ลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2527 นายลดได้ถูกตู้บรรจุสินค้าทับที่มือขวาในขณะขนส่งสินค้าให้จำเลยเป็นเหตุให้กระดูกนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยหัก ต้องสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานโดยสิ้นเชิง นายลดได้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนต่อพนักงานเงินทดแทน กรมแรงงาน นายลดถึงแก่ความตายด้วยโรคตับและไตวาย พนักงานเงินทดแทนได้มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนเป็นรายเดือน เดือนละ 3,312 บาท มีกำหนด 1 เดือน 2 วัน ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือน เดือนละ 3,312 บาทมีกำหนด 3 ปี 5 เดือน รวมเป็นเงิน 135,792 บาท จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์10,608 บาท แล้วให้จ่ายส่วนที่เหลือโดยอ้างว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตายขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนจำนวน 128,716 บาท 80 สตางค์ตามกำหนดระยะเวลาที่พนักงานเงินทดแทนกำหนดไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์เป็นค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะนับแต่วันได้รับบาดเจ็บถึงวันที่นายลดถึงแก่ความตายเป็นเงิน 7,076 บาทและกรณีไม่สามารถทำงานได้ 32 วัน เป็นเงิน 3,532 บาท 80 สตางค์ รวมเป็นเงิน10,608 บาท 80 สตางค์ คงเหลือจ่ายอีก 128,716 บาท เงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นการช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานตามปกติได้ เป็นการเฉพาะตัวลูกจ้าง ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องเงินทดแทนเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนจำนวน 128,716 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งเป็นต้นไปและตามกำหนดระยะเวลาตามคำสั่งดังกล่าวให้แก่โจทก์และทายาทของนายลด เพบขุนทด

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 54 กำหนดว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนและหากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นเหตุให้สูญเสียอวัยวะของร่างกายหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะไปเพียงบางส่วน ก็ให้คิดค่าตอบแทนเทียบอัตราส่วนตามข้อกำหนดของกระทรวงมหาดไทย จึงเห็นได้ชัดว่า ค่าทดแทนนี้นอกจากเป็นการบังคับให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในกรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะแล้ว ยังให้ทดแทนให้กรณีที่ลูกจ้างได้สูญเสียอวัยวะของร่างกายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างด้วย เจตนารมณ์ของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ จึงเป็นบทคุ้มครองลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายต่าง ๆซึ่งเป็นการสูญเสียอวัยวะของร่างกายหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานโดยให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเพื่อทดแทนการสูญเสียต่าง ๆ เหล่านั้นโดยตรงหาใช่เป็นการจ่ายค่าทดแทนบรรเทาความเดือดร้อนทุกข์ยากระหว่างไม่สามารถทำงานได้เป็นเหตุให้ขาดรายได้ดังข้ออุทธรณ์ของจำเลยไม่ และการจ่ายค่าทดแทนนี้ย่อมมีการคำนวณจำนวนเงินได้แน่นอนตายตัว เพียงแต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม2525 กำหนดให้มีระยะเวลาการจ่ายไว้ตามประเภทการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานโดยสิ้นเชิงเท่านั้น ซึ่งหากลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันได้นายจ้างอาจจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนก็ได้ การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนนั้น ก็เป็นเพียงการผ่อนคลายภาระของนายจ้างและเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างและครอบครัวในการครองชีพมิให้ได้รับความเดือดร้อนระหว่างที่ปฏิบัติงานไม่ได้เท่านั้น ค่าทดแทนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จึงเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนโดยแบ่งจ่ายให้เป็นรายเดือน สิทธิเรียกร้องของลูกจ้างจึงมีอยู่ในเงินจำนวนนั้นทั้งหมด หาใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ และเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน เมื่อนายลดลูกจ้างจำเลยผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนรายนี้ได้ถึงแก่ความตาย สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนส่วนที่จำเลยยังมิได้จ่ายจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ผู้เป็นทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600

โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์เพียงผู้เดียวโจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่ทายาทของนายลดซึ่งในชั้นนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายลดยังมีทายาทอื่นอีกหรือไม่ เมื่อเงินทดแทนรายนี้เป็นสิทธิอย่างหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นมรดก ย่อมตกทอดแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนายลด และถึงแม้จะมีทายาทอื่นของนายลดอยู่อีกก็ตาม ทายาทแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298หากจะมีทายาทอื่นที่มีสิทธิได้รับมรดกรายนี้ก็เป็นกรณีที่จะต้องเรียกร้องกับโจทก์ต่อไปที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้แก่ทายาทของนายลดด้วยจึงนอกคำขอของโจทก์สำหรับปัญหาเรื่องดอกเบี้ยนั้น การผิดนัดของจำเลยย่อมเกิดขึ้นในแต่ละเดือนที่จำเลยมีหน้าที่จ่ายเงินทดแทน มิใช่ตกเป็นผู้ผิดนัดในยอดเงินค่าทดแทนทั้งจำนวน คำพิพากษาศาลแรงงานกลางทั้ง 2 ประการนี้จึงคลาดเคลื่อนสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนจำนวน 128,716 บาท พร้อมดอกเบี้ยของจำนวนเงินทดแทนเฉพาะแต่ละเดือนที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดให้แก่โจกท์จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share