คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 กำหนดให้เฉพาะแต่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นเพียงปลัดอำเภอและมิได้เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ แม้นายอำเภอจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน อ. ก็มีฐานะเป็นเพียงผู้ทำการแทนนายอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวไม่อ. จึงไม่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ.จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 แต่การที่อ. ทำการแทนนายอำเภอดังกล่าวนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่า อ. มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ ดังนั้น การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ.และอ. จดข้อความที่แจ้งลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งมีสัญชาติญวนได้ยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชน โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ อ.ปลัดอำเภอเมืองศรีสะเกษฝ่ายทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ออกบัตรประชาชน ว่าจำเลยมีสัญชาติไทย และบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยหาย ขอให้เจ้าหน้าที่ออกบัตรให้ใหม่ ทำให้ อ.และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ออกบัตรประชาชนต้องเสียหายโดยหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในเอกสารราชการและออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 267 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนพ.ศ. 2505 มาตรา17 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 267 จำคุก2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า อ.ปลัดอำเภอผู้รับจดแจ้งข้อความลงในเอกสารไม่ใช่นายอำเภอ จึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2505 นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าอ.เป็นปลัดอำเภอ และได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอให้ทำหน้าที่ควบคุมตรวจเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการทำบัตรประจำตัวประชาชน ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 19ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคบอยู่ในขณะกระทำความผิด บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานตรวจบัตร ซึ่งก็ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่14 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 กำหนดให้เฉพาะแต่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่ออ. เป็นเพียงปลัดอำเภอและมิได้เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ แม้นายอำเภอจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน อ.ก็มีฐานะเป็นผู้ทำการแทนนายอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวไม่ดังนั้น อ.จึงไม่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวการที่จำเลยไปยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชน โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ.ซึ่งมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนพ.ศ. 2505 มาตรา 17 ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137และมาตรา 267 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่านายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งให้ อ. ปลัดอำเภอ เป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชนแทนนายอำเภอ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่า อ.มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่แล้ว การที่จำเลยไปแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งได้จดข้อความที่แจ้งลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share