คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเรียกร้องเอาเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างนั้นพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 63 ให้สิทธิแก่เจ้าของเท่านั้นที่จะเรียกร้องเอาคืนได้ และตามมาตรา 2 ก็ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ผู้นำของเข้า” ให้หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของด้วยดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของสินค้าที่ขายทอดตลาด โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างจากจำเลยได้ แม้ว่าโจทก์จะไม่เป็นผู้นำของเข้าหรือผู้รับตราส่งก็ตาม จำเลยขายทอดตลาดของตกค้างเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2529โจทก์ได้มีหนังสือขอคืนเงินที่เหลือเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2529จึงเป็นการเรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 63 เงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดจึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินและกำหนดเวลาหกเดือนตามมาตรา 63 นี้มิใช่กำหนดอายุความฟ้องร้องที่เจ้าของจะต้องฟ้องเรียกคืนเงินที่เหลือภายในหกเดือนนับแต่วันที่ขาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.เอ.ที.ฟาร์มาซูติคอลได้สั่งซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์จากโจทก์ รวมราคา 122,600 ดอยซ์มาร์กโจทก์ส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อล่าช้ากว่ากำหนด โดยส่งสินค้าลงเรือเดินทางมาถึงท่าเรือคลองเตย และเก็บรักษาไว้ที่คลังสินค้าคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2528 ต่อมาผู้ซื้อขอลดราคา แต่โจทก์ไม่ยินยอม ผู้ซื้อจึงบอกเลิกสัญญาซื้อขายโจทก์ได้มอบให้ตัวแทนเตรียมดำเนินการส่งคืนสินค้า แล้วในระหว่างนั้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2529 จำเลยได้นำสินค้าทั้งหมดของโจทก์ออกขายทอดตลาดอ้างว่าเป็นของตกค้างตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 61 ได้รับเงินจากการขายทอดตลาด 680,000 บาทเมื่อหักใช้ค่าภาษีศุลกากร ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และค่าภาระติดพันของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว คงเหลือเงินสุทธิ501,176.57 บาท โจทก์ในฐานะเจ้าของสินค้า จึงมีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 63โจทก์ได้ขอคืนแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้อ้างว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของสินค้าเพราะโจทก์มิได้เป็นผู้รับตราส่งสินค้ารายนี้ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 501,176.57 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของสินค้าเคมีภัณฑ์ตามฟ้องเจ้าของสินค้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้แก่ผู้รับตราส่งเท่านั้น การซื้อขายรายนี้กรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังผู้ซื้อนับแต่ขณะทำสัญญา โจทก์ฟ้องเรียกคืนเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันขายทอดตลาดสินค้าเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดสินค้าตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 501,176.57 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า วันที่ 9 มิถุนายน 2529 จำเลยได้นำสินค้าเคมีภัณฑ์ตามฟ้องออกขายทอดตลาดเนื่องจากเป็นสินค้าตกค้างตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 61 หลังจากหักเงินต่าง ๆตามที่กฎหมายกำหนดแล้วคงเหลือเงินสุทธิจากการขายทอดตลาด 501,176.57บาท โจทก์ได้ขอคืนเงินดังกล่าวจากจำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของสินค้าที่ขายทอดตลาด แต่จำเลยปฏิเสธไม่คืนให้ คงมีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิขอคืนเงินดังกล่าวและได้ขอคืนในกำหนดเวลาหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว สินค้าเคมีภัณฑ์ที่ขายทอดตลาดนั้น นายอภิชาติชินกุลกิจนิวัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า เป็นสินค้าที่โจทก์ส่งมาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.เอ.ที.ฟาร์มาซูติคอลผู้ซื้อในประเทศไทย แต่ส่งมาล่าช้าผู้ซื้อไม่ยอมรับและบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จำเลยไม่มีพยานสืบในข้อที่ว่า โจทก์มิใช่ผู้ส่งสินค้ามาในประเทศไทย ตามใบสั่งซื้อสินค้าก็ระบุชื่อผู้รับคำสั่งซื้อว่าเป็นโจทก์ ตามเอกสารทางการเงินชนิดเพิกถอนไม่ได้ ก็ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับ และธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้เปิด แอลซี (L/C)ก็ได้มีหนังสือถึงจำเลยระบุว่า โจทก์เป็นผู้ส่งสินค้ามาในประเทศไทยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ส่งมาให้ผู้ซื้อในประเทศไทยแต่ผู้ซื้อไม่ยอมรับ ในที่สุดได้เลิกสัญญากันสินค้าเคมีภัณฑ์ดังกล่าวจึงยังเป็นของโจทก์อยู่ การเรียกร้องเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างนั้น พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 63 ได้บัญญัติเรื่องการเรียกร้องเอาเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างไว้เป็นการชัดเจนแล้วว่าเจ้าของเท่านั้นที่จะเรียกร้องเอาคืนได้ และในเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์เป็นเจ้าของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ขายทอดตลาดโจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาคืนได้ ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า ฐานะการเป็นเจ้าของที่จะขอคืนต้องเป็นผู้นำของเข้า หรือผู้รับตราส่งนั้นเป็นการกล่าวอ้างที่นอกเหนือจากที่กฎหมายในเรื่องนี้กำหนดไว้ และถึงแม้จะถือตามข้ออ้างของจำเลยที่ว่า ต้องเป็นผู้นำของเข้าก็ตาม คำว่า”ผู้นำของเข้า” ก็มีบทวิเคราะห์ศัพท์กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 มาตรา 2 ว่าให้หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของจำเลยจึงไม่อาจจะกล่าวอ้างบทกฎหมายใดมาเป็นข้อปฏิเสธในการที่จะไม่คืนเงินที่เหลือจากการขายของตกค้างรายนี้ให้โจทก์ได้เว้นแต่เงินที่เหลือจากการขายของดังกล่าวจะตกเป็นของแผ่นดินแล้วตามที่มาตรา 63 บัญญัติไว้ แต่ข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยขายทอดตลาดของตกค้างรายนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2529 โจทก์โดยนายอภิชาติผู้รับมอบอำนาจได้มีหนังสือขอคืนเงินเหลือเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม2529 จึงเป็นการเรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น เงินที่เหลืออยู่จึงยังไม่ตกเป็นของแผ่นดิน จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อโจทก์เรียกร้องเอาคืนจากจำเลยภายในกำหนดแล้ว จำเลยไม่คืนให้ก็เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยได้ตามสิทธิ และกำหนดเวลาหกเดือนตามมาตรา 63 นั้นมิใช่กำหนดอายุความฟ้องร้องที่เจ้าของจะต้องฟ้องร้องเรียกคืนเงินที่เหลือภายในหกเดือน นับแต่วันที่ขาย ดังที่จำเลยอุทธรณ์
พิพากษายืน

Share