คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3576/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะจำเลย ผู้ตาย และพวกนั่งดื่มสุราอยู่ด้วยกัน ผู้ตายพูดว่า จำเลยหัวล้านหรอยจัง แล้วใช้มือลูบศีรษะจำเลย จำเลยลุกออกจากวงสุราไป ต่อมาประมาณ 15 นาที จำเลยถือปืนแก๊ปยาวมายิงผู้ตายถึงแก่ความตาย กรณีมิใช่เกิดจากโทสะที่พุ่งขึ้นเฉพาะหน้าขณะที่ผู้ตายใช้มือลูบศีรษะจำเลย แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทันที แต่เป็นกรณีที่จำเลยเกิดโทสะแล้วออกจากวงสุราไปเกิดความคิดจะฆ่าผู้ตายในภายหลังและเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยจะต้องคิดไตร่ตรองตัดสินใจอย่างหนักเป็นเวลาถึง 15 นาที ในการตกลงใจกระทำผิด จึงเป็นการกระทำผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289(4) ลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และ 52 กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด10 ปี โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยใช้อาวุธปืนแก๊ปยาวยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ในปัญหาที่ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะจำเลย ผู้ตาย และพวกนั่งดื่มสุรากันอยู่ ผู้ตายได้ถามจำเลยว่าเป็นลูกนางพร้อยใช่ไหม เมื่อจำเลยตอบว่าใช่ ผู้ตายก็พูดว่าหัวล้านหรอยจัง แล้วใช้มือลูบศีรษะจำเลย จำเลยลุกออกจากวงสุราไปต่อมาประมาณ 15 นาที จำเลยจึงถืออาวุธปืนแก๊ปยาวมายิงผู้ตายศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยยิงผู้ตายมิได้เกิดจากโทสะที่พุ่งขึ้นเฉพาะหน้าขณะที่ผู้ตายใช้มือลูบศีรษะจำเลย แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทันที แต่เป็นกรณีที่จำเลยเกิดโทสะแล้วก็ออกจากวงสุราไปเกิดความคิดจะฆ่าผู้ตายในภายหลัง และเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยจะต้องคิดไตร่ตรองตัดสินใจอย่างหนักเป็นเวลาถึง 15 นาทีในการตกลงใจกระทำผิดคดีนี้ จึงเป็นการกระทำผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share