คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2277/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีพยานที่รู้เห็นในขณะเกิดเหตุคือ นาง น. กับนาง ผ.ส่วนนาย ว. ซึ่ง เป็นพยานในที่เกิดเหตุด้วย ได้ ถึงแก่ความตายไปก่อนนาง น. เบิกความว่ารู้จักจำเลยมาก่อน รู้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ จำเลยกับพวกได้ ยิงผู้ตายในคืนเกิดเหตุ นาง น. เป็นผู้แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปชันสูตรพลิกศพว่าจำเลยกับพวกเป็น คนยิงผู้ตายทั้งสอง ส่วนนาง ผ.เบิกความว่าไม่รู้จักจำเลยแต่ จำได้ ว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งเมื่อจับจำเลยได้ นาง ผ. ชี้ ตัว จำเลยถูกต้อง แต่ ตาม สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ปรากฏว่าในวันที่ 5 มิถุนายน 2526(วันเกิดเหตุ) นาย สมคิด จิตเส้งแจ้งว่ามีผู้ก่อการร้าย 5 คน ใช้ อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสอง โดย มิได้ระบุว่าใครเป็นคนร้ายตาม สำเนารายงาน ประจำวันเกี่ยวกับคดีลง วันที่ 9 มิถุนายน2526 เจ้าพนักงานตำรวจ ได้ ไปตรวจ ที่เกิดเหตุและทราบตัว คนร้ายแล้ว ก็ปรากฏ ว่า ยังไม่มี การระบุตัว คนร้ายว่าเป็นใคร ในแผนที่เกิดเหตุที่ร้อยตำรวจเอก ก. ผู้ทำเอกสารเบิกความว่าได้ ทราบจากนาง น.ว่าจำเลยเป็นคนร้ายแล้วก็ปรากฏว่า ไม่ได้ระบุตำแหน่ง ที่นั่งของจำเลยกับได้ เขียนชื่อ จำเลยในช่อง ผู้ต้องหาขึ้นภายหลัง จากทำเอกสาร และในบันทึกการตรวจ สถานที่ เกิด เหตุได้ ระบุว่า ผู้ก่อการร้าย (ผกค.) จำนวน 5 คนยิงผู้ตายทั้งสองที่บ้านพัก โดย ไม่ได้ระบุชื่อ จำเลยไว้ ส่วนคำให้การชั้นสอบสวนของนาย ว. ในแผ่นแรกไม่ปรากฏว่านาย ว. รู้เห็นว่าจำเลยทำผิด เพียงแต่ เห็นชาย 5 คน จำได้ 2 คน แต่ง เครื่องแบบทหารส่วนอีก 3 คน แต่งกาย ธรรมดาแต่ ในแผ่นที่ 2 ซึ่ง เป็นใบต่อ คำให้การจึงระบุว่าจำเลยเป็นคนร้าย ทั้งในรายงานการชันสูตรพลิกศพของนาย ช.ในช่อง ชื่อ ผู้ทำให้ตาย ที่ระบุชื่อ จำเลย ตัว เขียนต่าง กับช่อง อื่น ๆน่าจะเป็นการเติม ชื่อ จำเลยในภายหลัง ส่วนในแบบรายงานการชันสูตรพลิก ศพนาย ธ. ไม่ได้ระบุชื่อ ผู้ทำให้ตาย ไว้ แสดงให้เห็นว่าในเบื้องต้น น่าจะไม่รู้ตัว คนร้ายว่าเป็นใคร แม้คำเบิกความของ นาง น.และนาง ผ. จะมีรายละเอียดลำดับเหตุการณ์และขั้นตอนในการกระทำผิดของคนร้ายโดย ละเอียดก็ตาม แต่ เมื่อ พยานหลักฐานเอกสารของโจทก์ไม่สอดคล้องกับคำเบิกความของ พยานบุคคลที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ จึงทำให้คำเบิกความของพยานบุคคลมีน้ำหนักน้อยไม่เพียงพอที่จะรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,288, 289 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางโสภิณ สุนทรมัฏฐ ภริยานายธนิตผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 289(4) ให้ประหารชีวิต จำเลยกระทำโดยอุกอาจ ใช้อำนาจบาตรใหญ่ต่อหน้าบุคคลหลายคนเป็นการจำนนต่อพยานหลักฐาน คำให้การชั้นสอบสวนและข้อนำสืบของจำเลยไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาไม่ลดโทษให้ ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุมีคนร้ายหลายคนใช้อาวุธปืนยิงนายธนิตหรืออู๊ด สุนทรมัฏฐ และนายช่วง สามารถ ถึงแก่ความตายข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่เห็นว่า โจทก์มีพยานที่รู้เห็นในขณะเกิดเหตุมาเบิกความในชั้นศาล 2ปาก คือนางเนาวรัตน์ ศรีใหม่ และนางผิว ศรีใหม่ ส่วนนายวีระเกตุแก้ว เป็นพยานอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยได้ถึงแก่ความตายไปตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2528 คงมีแต่คำให้การชั้นสอบสวน ตามคำเบิกความของนางเนาวรัตน์ปรากฏว่ารู้จักจำเลยมาก่อน น้องชายจำเลยเป็นคนขับรถให้นายธนิตผู้ตาย นางเนาวรัตน์รู้เห็นอยู่ในที่เกิดเหตุตั้งแต่จำเลยกับพวกได้ยิงผู้ตายทั้งสอง และต่อมาในคืนนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ไปชันสูตรพลิกศพผู้ตายทั้งสอง นางเนาวรัตน์ได้แจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยกับพวกเป็นคนยิงผู้ตายทั้งสองส่วนนางผิวเบิกความว่าไม่รู้จักจำเลยแต่เห็นจำเลยในคืนนั้นจำได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่ง เมื่อจับตัวจำเลยได้เจ้าพนักงานตำรวจให้พยานชี้ตัวพยานยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองมีรายละเอียดและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียด แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นทั้งหมด เห็นว่า ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสิชลส่งมาตามที่จำเลยขอให้ศาลมีหมายเรียกปรากฏว่าในวันที่ 5 มิถุนายน 2526 นายสมคิด จิตเส้ง แจ้งว่ามีผู้ก่อการร้าย 5 คน ใช้อาวุธปืนยิงนายธนิตกำนันตำบลฉลองและนายช่วงถึงแก่ความตาย โดยมิได้ระบุว่าใครเป็นคนร้าย และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีลงไว้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2526เจ้าพนักงานตำรวจได้ไปตรวจที่เกิดเหตุและทราบตัวคนร้ายแล้วก็ปรากฏว่ายังไม่มีการระบุตัวคนร้ายว่าเป็นใครและในแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งในตอนนั้นนางเนาวรัตน์เบิกความว่าได้บอกเจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยเป็นคนร้าย และร้อยตำรวจเอกเกรียงศักดิ์เดชสุภากุล ผู้ทำเอกสารเบิกความว่าได้ทราบว่าจำเลยเป็นคนร้ายจากนางเนาวรัตน์แล้ว แต่ที่ไม่ได้ระบุตำแหน่งที่นั่งของจำเลยในเอกสารหมาย จ.1 ไว้ด้วยเพราะเหตุใดพยานไม่ทราบ และเบิกความอีกว่าได้เขียนชื่อจำเลยในช่องผู้ต้องหาขึ้นภายหลังจากการทำเอกสารแต่กี่วันจำไม่ได้ และในบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมายจ.6 ได้ระบุว่าผู้ก่อการร้าย (ผกค.) จำนวน 5 คน ยิงผู้ตายทั้งสองที่บ้านพัก เหตุที่ไม่ได้ระบุชื่อจำเลยไว้ ร้อยตำรวจเอกเกรียงศักดิ์เบิกความว่ารอสอบพยานปากอื่นเสียก่อน ส่วนในคำให้การของนายวีระเกตุแก้ว เอกสารหมาย จ.8 ปรากฏว่ามี 2 แผ่น ในแผ่นแรกคำให้การสิ้นสุดในหน้าหลังพอดี และได้มีการลงชื่อไว้ในคำให้การแผ่นนี้ไม่ปรากฏว่าพยานรู้เห็นว่าจำเลยทำผิดแต่อย่างใด เพียงแต่พยานเห็นชาย 5 คน จำได้ 2 คน แต่งเครื่องแบบทหาร ส่วนอีก 3 คน แต่งกายธรรมดาแต่ในแผ่นที่ 2 ซึ่งเป็นใบต่อคำให้การจึงได้ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้าย ทั้งในแบบรายงานการชันสูตรพลิกศพนายช่วง สามารถในช่องชื่อผู้ที่ทำให้ตาย (ถ้ามี) ที่ระบุชื่อจำเลยตัวเขียนต่างกับช่องอื่น ๆ น่าจะเป็นการเติมชื่อจำเลยในภายหลังเช่นเดียวกับในเอกสารอื่น ๆ ที่ทางเจ้าพนักงานได้จัดทำ ส่วนในแบบรายงานการชันสูตรพลิกศพนายธนิต สุนทรมัฏฐ ไม่ได้ระบุชื่อผู้ที่ทำให้ตายไว้ ตามเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ในเบื้องต้นน่าจะไม่รู้ตัวคนร้ายว่าเป็นใคร ถ้าทราบชื่อคนร้ายแน่นอนคงจะระบุในเอกสารต่าง ๆที่ได้จัดทำขึ้นหลังจากที่รู้ตัวคนร้ายแล้ว เพราะเป็นข้อสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่าได้รู้ตัวคนร้ายตั้งแต่เกิดเหตุ แม้คำเบิกความจะมีรายละเอียดและขั้นตอนในการกระทำของคนร้าย แต่เมื่อพยานหลักฐานเอกสารของโจทก์ไม่สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานบุคคลที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุจึงทำให้คำเบิกความของพยานบุคคลมีน้ำหนักน้อยที่จะรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ พยานหลักฐานโจทก์ทั้งหมดไม่พอรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ แต่ของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบในที่เกิดเหตุเป็นของที่ใช้ในการกระทำผิดจึงต้องริบ”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ของกลางให้ริบ.

Share