คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2172/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องคุ้มครองแรงงาน (ข้อ 2)ได้ ให้ความหมายคำว่า “นายจ้าง” ว่า “…หมายความรวมถึงผู้ซึ่ง ได้ รับ มอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างในกรณีที่ นายจ้างเป็น นิติบุคคล” ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ซึ่ง เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะ เป็นนายจ้างตาม ความหมายดังกล่าวแล้ว คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะ ผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ. ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะ เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2ซึ่ง เป็นบริษัทจำกัด ดังนี้ จึงถือ ว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและคดีนี้เป็นคนละคนกัน มิใช่กรณีที่คู่ความเดียว กันไม่เป็นฟ้องซ้ำ.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดธีระอิมปอร์ทแอนด์เอ็คซปอร์ทและต่อมาได้โอนย้ายให้โจทก์ทั้งสองสมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2เมื่อเดือนสิงหาคม 2530 ครั้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2532 จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดและจำเลยที่ 1 ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขณะถูกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองต่างได้รับค่าจ้างเดือนละ 2,600 บาท โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินประกันค่าเสียหายซึ่งจำเลยทั้งสองได้หักเอาไว้จากค่าจ้างของโจทก์ทั้งสองระหว่างที่เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองคืน และจำเลยทั้งสองไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสอง และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินประกันค่าเสียหายคืนโจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 1,043.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 8,141.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 2,713.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ้างแรงงาน ซึ่งศาลได้วินิจฉัยเรื่องสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง เพราะโจทก์ทั้งสองไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามคดีหมายเลขแดงที่3752/2532 ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสองแต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้เรียกเงินประกันค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดคืนเงินประกันค่าเสียหาย จำเลยที่ 2ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ความจริงโจทก์ทั้งสองขอลาออกจากงานเองจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นจำนวนคนละ 11,674.05 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ตามข้อ 2.2 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำการในนามของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2เป็นการไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ได้ให้ความหมายของคำว่า”นายจ้าง” ไว้ว่า “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล หมายความว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล คดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นนายจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2…
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ตามข้อ 2.3 ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 3752/2532ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีเดิมคือคดีหมายเลขแดงที่ 3752/2532 ของศาลแรงงานกลางนั้น โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดธีระอิมปอร์ทเอ็คซปอร์ท ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ เป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ถือว่าจำเลยที่ 1 ในคดีเดิมและคดีนี้ที่ถูกโจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นคนละคนกัน จึงมิใช่เป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกอันจะเป็นฟ้องซ้ำดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2อุทธรณ์…”
พิพากษายืน.

Share