คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 245/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยประการใดอันเกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างนั้น โจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องมาในคราวเดียวกันทั้งหมด คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 20 และมาตรา 31 ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม และชำระค่าจ้างตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้เรียกค่าเสียหายที่ไม่มีงานทำ เงินเดือนสำหรับช่วงระยะเวลาการจ้างที่ยังไม่ครบกำหนด และค่าชดเชย โดยอาศัยเหตุแห่งการเลิกจ้างคราวเดียวกันซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างสำหรับช่วงเวลาที่ยังไม่ครบกำหนดจำนวน 102,520 บาท ค่าชดเชยจำนวน 55,920 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างจำนวน 200,000 บาทแก่โจทก์จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย จำเลยที่ 1 ไม่เคยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ การเลิกจ้างนั้นมีสาเหตุมาจากโจทก์ โจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 3191/2530หมายเลขแดงที่ 785/2531 พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยขัดต่อพระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 และมาตรา 31เนื่องจากจำเลยแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมิได้แจ้งข้อเรียกร้องและโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ทั้งเลิกจ้างในขณะที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาตามข้อเรียกร้องตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ที่โจทก์กับพนักงานอื่นได้ยื่นต่อจำเลยไว้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมกับให้จำเลยชำระค่าจ้างตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไม่ใช่ข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ยื่นต่อนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ฝ่าฝืนต่อมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาพิพากษายืนคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อน สาเหตุก็เนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2530 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยประการใดอันเกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างนั้น โจทก์ย่อมต้องใช้สิทธิเรียกร้องมาในคราวเดียวกันทั้งหมด การที่โจทก์มิได้เรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่มีงานทำเงินเดือนสำหรับช่วงระยะเวลาการจ้างที่ยังไม่ครบกำหนด และค่าชดเชยรวมไปกับคดีก่อน แต่กลับมาเรียกร้องในคดีนี้ โดยอาศัยเหตุการเลิกจ้างคราวเดียวกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนคือคดีหมายเลขแดงที่ 785/2531 ของศาลแรงงานกลาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ที่ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวหรือไม่นั้นอีกต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share