คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4579/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขอแก้ฟ้องวันเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดโดยอ้างเหตุว่าเนื่องจากพิมพ์ผิดพลาด เป็นการขอแก้รายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องและเหตุที่โจทก์อ้างมานั้นเป็นเหตุอันสมควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ เพราะอาจเกิดบกพร่องเช่นนั้นได้ ทั้งจำเลยให้การปฏิเสธลอย ๆ และชั้นไต่สวนมูลฟ้อง พยานโจทก์ก็เบิกความว่าจำเลยกระทำความผิดตามวันที่ที่โจทก์ขอแก้ จึงไม่ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ชอบที่จะให้โจทก์แก้ฟ้องได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยรอฟังคำพิพากษา ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดโดยอ้างเหตุว่าพิมพ์ผิดพลาด ศาลชั้นต้นเห็นว่า การขอแก้ฟ้องนั้นฟ้องเดิมต้องสมบูรณ์ ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ โจทก์จะมาขอแก้ฟ้องเพื่อให้เป็นฟ้องที่สมบูรณ์หาได้ไม่ จึงไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง และพิพากษาว่า โจทก์ยื่นฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องตามขอ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163บัญญัติว่า “เมื่อมีเหตุอันควรโจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น…” โจทก์อ้างเหตุว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองบกพร่องเนื่องจากพิมพ์ผิดพลาด ขอแก้คำว่า”วันที่ 21 กรกฎาคม 2531″ เป็นคำว่า “วันที่ 21 กรกฎาคม 2530″เห็นว่าเหตุที่โจทก์อ้างมานั้นถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เพราะอาจเกิดบกพร่องเช่นนั้นได้ และการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องเฉพาะวันเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดนั้น เป็นการแก้รายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 164 มิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทั้งจำเลยให้การปฏิเสธลอย ๆ และชั้นไต่สวนมูลฟ้องพยานโจทก์ก็เบิกความว่าวันที่จำเลยกระทำความผิดคือวันที่ 21 กรกฎาคม2530 จึงไม่ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์แก้ฟ้องได้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยไปให้สิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share