คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4400/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในวันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องศาลชั้นต้นมิให้สั่งให้โจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนำส่งหรือไม่ก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคสองซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2527 มาตรา 5 ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ศาลไปส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยโจทก์ไม่ได้นำส่งแล้วรายงานว่า ส่งไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานว่า “รอโจทก์แถลง”โดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าส่งไม่ได้ โจทก์ย่อมไม่มีโอกาสทราบถึงผลการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องโดยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท ปรากฏตามรายงานการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องของเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 26 มกราคม 2530 ว่า ได้ไปส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2530แต่ส่งให้ไม่ได้เนื่องจากบ้านปิดประตูใส่กุญแจ สอบถามบุคคลใกล้เคียงแจ้งว่าจำเลยไปธุระนอกบ้าน ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานดังกล่าวว่ารอโจทก์แถลง ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2530 โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยอีกครั้งหนึ่ง หากไม่มีผู้ใดหรือจำเลยยอมรับโดยชอบขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องณ ภูมิลำเนาของจำเลย ศาลชั้นต้นสั่งในคำแถลงของโจทก์ว่า โจทก์ไม่แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปเกี่ยวกับเรื่องที่ส่งหมายให้แก่จำเลยไม่ได้ภายใน 7 วัน ตามที่ศาลสั่งไว้ ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดี คำแถลงของโจทก์ไม่จำต้องพิจารณาสั่ง โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ เป็นให้ดำเนินการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยใหม่ แล้วดำเนินการต่อไป จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งในวันโจทก์ยื่นคำฟ้องว่า “รับคำฟ้อง หมายส่งสำเนาให้จำเลย ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” นั้น มีความหมายว่าโจทก์ได้ทราบถึงผลการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันส่งนั้นและตามคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว หาได้สั่งให้โจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยไม่ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 10)พ.ศ. 2527 มาตรา 5 ก็บัญญัติว่า “คำฟ้องนั้นให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ส่วนการนำส่งนั้นโจทก์จะนำส่งหรือไม่ก็ได้เว้นแต่ศาลจะสั่งให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนำส่ง ฯลฯ” ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้โจทก์นำส่งก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะนำส่งหรือไม่ก็ได้ และตามรายงานเจ้าหน้าที่ของศาลลงวันที่26 มกราคม 2530 ซึ่งไปส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยในวันที่ 25 มกราคม 2530 แต่ส่งให้จำเลยไม่ได้เนื่องจากไม่พบจำเลยคงพบบ้านปิดประตูใส่กุญแจ ได้สอบถามบุคคลใกล้เคียงแจ้งว่าจำเลยไปทำธุระนอกบ้านไม่ทราบว่าจะกลับมาเมื่อไร และในการส่งหมายครั้งนี้เจ้าหน้าที่ผู้ไปส่งหมายได้รับค่าพาหนะ ค่าป่วยการเป็นเงิน150 บาทไปแล้ว จากรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ไม่ได้นำส่งแต่ได้เสียค่าธรรมเนียมในการส่งแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวแต่เพียงว่า “รอโจทก์แถลง” ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยไม่ได้ โจทก์ย่อมไม่มีโอกาสทราบถึงผลการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)”
พิพากษายืน

Share