คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต และการมีไว้ในครอบครองซึ่งรู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น พระราชบัญญัติสุราฯ บัญญัติความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรากันจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน การทำสุราแช่และการทำสุรากลั่นถือว่ามีเจตนาและวัตถุประสงค์อันเดียวกันส่วนการมีสุราแช่หรือสุรากลั่นก็เป็นการกระทำโดยมีเจตนาและวัตถุประสงค์อันเดียวกัน เช่นกัน แม้โจทก์บรรยายฟ้องแยกออกเป็น 4 ข้อ ก็ไม่ทำให้เป็นการกระทำแยกกันได้จำเลยคงมีความผิดเพียงสองกรรมเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493มาตรา 5, 30, 32, 45 พระราชบัญญัติสุราฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497มาตรา 4, 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราฯ พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 32, 45 พระราชบัญญัติสุราฯ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 มาตรา 4, 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีภาชนะเครื่องกลั่นสำหรับทำสุรา จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานทำสุราแช่ปรับคนละ 100 บาท ฐานมีสุราแช่ปรับคนละ 500 บาท ฐานทำสุรากลั่นปรับคนละ 1,500 บาท ฐานมีสุรากลั่นปรับคนละ 500 บาทรวมจำคุกคนละ 2 เดือน ปรับ 2,600 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนโดยให้นับต่อจากโทษจำคุก ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานทำสุราแช่สุรากลั่นปรับคนละ 3,000 บาท ฐานมีสุราแช่ สุรากลั่นไว้ในครอบครองปรับคนละ 1,000 บาท รวมปรับคนละ 4,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับคนละ 2,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานมีภาชนะเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นจำคุกคนละ 2 เดือนและปรับคนละ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมแยกต่างหากจากกันตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติสุราฯพ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 32 บัญญัติความผิดและบทลงโทษฐานทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต และการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไว้คนละมาตรากัน เพราะฉะนั้น การทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต และการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุรานั้นจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน
การทำสุราแช่และการทำสุรากลั่นถือว่ามีเจตนาและวัตถุประสงค์อันเดียวกันคือเป็นการทำสุราโดยผิดกฎหมาย ส่วนการมีสุราแช่หรือสุรากลั่นก็เป็นการกระทำโดยเจตนาและมีวัตถุประสงค์อันเดียวกันคือมีสุราไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ดังนั้นการทำสุราแช่ สุรากลั่นจึงเป็นกรรมเดียวกัน การมีสุราแช่และสุรากลั่นก็เป็นกรรมเดียวกันแม้โจทก์บรรยายฟ้องแยกออกมาเป็น 4 ข้อ ก็ไม่ทำให้เป็นการกระทำแยกกันได้”
พิพากษายืน

Share