คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4154/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีลักษณะประกอบกัน 2ประการ คือ ภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีผ้าผูกคอเป็นรูปหูกระต่ายอยู่ภายในวงรี กับมีอักษรจีนว่า ลิ้มจิงเฮียง และอักษรไทยว่าลิ้มจิงเฮียง อยู่ใต้ภาพโจทก์ที่ 1 โดยระบุว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนี้ไม่ให้สิทธิแก่โจทก์แต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรจีนว่าลิ้มจิงเฮียงและอักษรไทยว่าลิ้มจิงเฮียง ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยซึ่งนำอักษรจีนและอักษรไทยดังกล่าวไปใช้กับสินค้าของจำเลย เครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้และขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนมีลักษณะประกอบกัน 2 ประการ คือภาพถ่ายจำเลยซึ่งมีผ้าผูกคอเงื่อนกลาสีอยู่ภายในวงรีกับมีอักษรจีนว่าลิ้มจิงเฮียง(ฮะกี่)และอักษรไทยว่าลิ้มจิงเฮียง(ฮะกี่) อยู่ใต้ภาพถ่ายจำเลยส่วนโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ดังกล่าวข้างต้น กับสินค้าที่ออกสู่ท้องตลาด โดยมีลวดลายประกอบและมีอักษรจีนกับอักษรไทยพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มเติมขึ้นจากที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ ดังนั้นเมื่อตัดคำว่า ลิ้มจิงเฮียง ซึ่งมิใช่สิทธิของโจทก์ที่จะใช้แต่ผู้เดียวตลอดจนลวดลายและอักษรจีนกับอักษรไทยซึ่งมิใช่เครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้ออกจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยแล้ว ก็คงเหลือเพียงภาพถ่ายของโจทก์ซึ่งมีผ้าผูกคอแบบรูปหูกระต่ายอยู่ภายในวงรี ส่วนของจำเลยคงเหลือภาพถ่ายจำเลยซึ่งมีผ้าผูกคอเงื่อน กลาสีอยู่ภายในวงรี ดังนั้นเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้จึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถือได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอาชีพผลิตเนื้อหมูแห้ง หมูหยอง หมูตั้งกุนเชียง หมูแผ่น ออกจำหน่าย โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปถ่ายของโจทก์ที่ 1 อยู่ในรูปวงรี มีอักษรภาษาไทยและภาษาจีนว่า ลิ้มจิงเฮียง อยู่ใต้รูปถ่ายของโจทก์ที่ 1 จำเลยได้นำเอาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าประเภทเดียวกับของโจทก์ซึ่งจำเลยผลิตขึ้นและนำออกจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยจำเลยทำเครื่องหมายการค้าเป็นรูปถ่ายของจำเลยอยู่ในวงรี และมีอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาจีนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทเดียวกับสินค้าของโจทก์
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปถ่ายจำเลยในวงรีมีอักษรภาษาจีนและภาษาไทยว่า ลิ้มจิงเฮียง (ฮะกี่) โจทก์ไม่มีสิทธิคัดค้าน เพราะในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์แต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรจีนและอักษรไทยคำว่า ลิ้มจิงเฮียง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยงดใช้ชื่อรูปรอยประดิษฐ์คำว่า ลิ้มจิงเฮียง ให้ปรากฏในสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อหมูสำเร็จรูปที่จำเลยผลิตขึ้น ห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีรูปถ่ายของจำเลยพิมพ์ในวงกลมรีและใช้อักษรจีกับอักษรไทยว่า ลิ้มจิงเฮียง กับสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อหมูสำเร็จรูปที่จำเลยผลิตขึ้น ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 50,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะงดใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของโจทก์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 โดยมีลักษณะประกอบกัน2 ประการ คือ ภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีผ้าผูกคอเป็นรูปหูกระต่ายอยู่ภายในวงรี กับมีอักษรจีนว่า ลิ้มจิงเฮียง และอักษรไทยว่าลิ้มจิงเฮียง เท่านั้น ไม่มีลวดลายหรืออักษรอย่างอื่นประกอบแต่อย่างใดเลย ดังปรากฏตามหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.4และคำขอต่ออายุทะเบียนเอกสารหมาย จ.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์รายนี้ ไม่ให้สิทธิแก่โจทก์แต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรจีนว่า ลิ้มจิงเฮียง และอักษรไทยว่าลิ้มจิงเฮียง ดังนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยซึ่งนำอักษรจีนและอักษรไทยดังกล่าวนี้ไปใช้กับสินค้าของจำเลย นอกจากนี้ เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่ออกสู่ท้องตลาดกลับมีลวดลายประกอบ และมีอักษรจีนกับอักษรไทยเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายบรรทัดตามใบสลากเอกสารหมาย จ.7 ไม่เหมือนกับที่โจทก์จดทะเบียนไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ส่วนอักษรไทยซึ่งเพิ่มเติมขึ้นและมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าได้ปรุงขึ้น หมูแผ่น หมูหยอง และหมูตั้งกวนเชียงมาจำหน่าย ปรุงด้วยเนื้อดี ซึ่งอร่อยถูกอนามัย ไม่เหมือนกับยี่ห้ออื่น และราคาก็ย่อมเยาว์กว่าที่อื่นถ้าท่านจะซื้อโปรดจำรูปและยี่ห้อข้าพเจ้าไว้เป็นสำคัญ ขอขอบพระคุณยิ่ง ถ้าท่านจะซื้อโปรดสั่งทางโทรศัพท์ ทางร้านยินดีบริกาส่งถึงที่” นั้นไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามความหมายของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 4 วรรคสุดท้าย เพื่อจะใช้ให้เห็นว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เพราะเป็นเพียงคำพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและการสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวเท่านั้นทั้งกลับแสดงอยู่ในตัวด้วยว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลูกค้าสังเกตภาพถ่ายของโจทก์ที่ 1 กับคำว่า ลิ้มจิงเฮียง ที่พิมพ์เป็นอักษรจีนและอักษรไทยเป็นสำคัญเพื่อแสดงว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าของโจทก์ซึ่งแตกต่างกับสินค้าที่ผลิตโดยบุคคลอื่น ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้และขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนนั้น มีลักษณะประกอบกัน2 ประการ คือ ภาพถ่ายจำเลยซึ่งมีผ้าผูกคอเงื่อนกลาสีอยู่ภายในวงรี กับมีอักษรจีนว่า ลิ้มจิงเฮียง (ฮะกี่) และอักษรไทยว่าลิ้มจิงเฮียง (ฮะกี่) อยู่ใต้ภาพถ่ายจำเลยตามใบสลากเอกสารหมาย จ.6ดังนั้น เมื่อตัดคำว่า “ลิ้มจิงเฮียง” ซึ่งมิใช่สิทธิของโจทก์แต่ผู้เดียวที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งแห่งเครื่องหมายการค้า ตลอดจนลวดลายและอักษรจีนกับอักษรไทยซึ่งมิใช่เครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้ดังกล่าวข้างต้นออกจากเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายแล้ว คงเหลือแต่สาระสำคัญแห่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยฝ่ายละ 1 ประการเท่านั้น คือ ของโจทก์มีภาพถ่ายโจทก์ที่ 1ซึ่งมีผ้าผูกคอแบบรูปหูกระต่ายอยู่ภายในวงรี ส่วนของจำเลยมีภาพถ่ายจำเลยซึ่งมีผ้าผูกคอเงื่อนกลาสีอยู่ภายในวงรี ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยกระทำไปเพื่อลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์นั้น เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยจากพยานหลักฐานในคดีมิได้แสดงว่าจำเลยกระทำไปเพื่อลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์แต่อย่างใดฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share