คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3915/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลซึ่งนอกจากพิจารณาถึงความสุจริตในการดำเนินคดีของโจทก์แล้วศาลจะต้องพิจารณาถึงผลได้ผลเสียของคู่ความทุกฝ่ายด้วย มิใช่จะพิจารณาแต่เพียงผลได้ผลเสียของโจทก์ผู้ขอถอนฟ้องแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ทราบข้อบกพร่องของคำฟ้องจากคำให้การแล้วไม่ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเสียก่อนวันนัดชี้สองสถาน ในวันนัดชี้สองสถานทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาว่า กรณีเดียวกันนี้ทนายโจทก์ยื่นฟ้องวันเดียวกัน 2 เรื่องการกลัดเอกสารท้ายคำฟ้องสับสนผิดเรื่อง โจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องเสียให้ถูกต้อง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 คัดค้าน โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงคัดค้าน ดังนี้ คดีเห็นได้ชัดว่าเมื่อไม่อาจแก้ไขข้อบกพร่องของคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยกขึ้นต่อสู้คดีไว้ให้แจ้งชัดและถูกต้องได้แล้ว โจทก์จึงขอถอนฟ้องเพื่อนำคำฟ้องที่ได้เรียบเรียงใหม่แก้ไขข้อบกพร่องและความไม่ถูกต้องต่าง ๆที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยกขึ้นต่อสู้ไว้แล้วมายื่นใหม่เป็นการเอาเปรียบจำเลยในเชิงคดี ทำให้จำเลยเสียหายไม่ชอบที่จะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2526 โจทก์นำเงิน 189,133 บาทไปฝากไว้กับบริษัทเงินทุนเยาวราช จำกัด บริษัทได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามบัญชีเลขที่ ฝ.8898 เลขที่ 12657/2526 ลงวันที่18 ตุลาคม 2526 สัญญาจะจ่ายเงินคืนให้โจทก์ในวันที่ 18 ตุลาคม 2527พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาจำเลยที่ 1 ตามข้อเสนอและความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 ได้เพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนฯ ของบริษัทเงินทุนเยาวราช จำกัด แล้วแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินและกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายคืนเงินใหม่ โจทก์ได้ยื่นคำขอเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อจำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 3ได้มีหนังสือแจ้งต่อโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินโดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นดังกล่าว ขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 2มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 รับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุนเยาวราช จำกัด ออกให้โจทก์ หรือชำระเงิน 189,133 บาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์เป็นผู้ทรงเป็นตั๋วที่บริษัทเงินทุนเยาวราช จำกัด ออกให้ในช่วงระยะเวลาที่บริษัทไม่มีสภาพคล่องทางการเงินไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือตั๋วได้ และตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์เป็นผู้ทรงไม่อยู่ในข่ายที่จะรับเปลี่ยนตั๋ว คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือผิดสัญญากับโจทก์อย่างไรที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ คำบรรยายฟ้องก็ไม่ชัดแจ้งและขัดกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจแก้คดีได้ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3ให้การว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเอกสารท้ายคำฟ้องแตกต่างกับคำบรรยายฟ้องโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 3 ไม่สามารถให้การต่อสู้คดีได้ ขอให้ยกฟ้อง ในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์แถลงต่อศาลด้วยวาจาว่า กรณีเดียวกันนี้ทนายโจทก์ยืนฟ้องวันเดียวกัน 2 เรื่องการกลัดเอกสารท้ายคำฟ้องสับสนผิดเรื่อง ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 คัดค้านไม่ยอมให้แก้ไขใด ๆ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังให้การต่อสู้คดีว่าได้รับสำเนาคำฟ้องผิดเรื่องจึงให้การต่อสู้คดีไม่ถูก ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ทำให้เกิดปัญหานอกประเด็นเพื่อตัดปัญหาดังกล่าวทนายโจทก์จึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยรับสำเนาแล้วคัดค้านการขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์สามในสี่ จำเลยที่ 1 ที่ 2อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งนอกจากพิจารณาถึงความสุจริตในการดำเนินคดีของโจทก์แล้ว ศาลจะต้องพิจารณาถึงผลได้ผลเสียของคู่ความทุกฝ่ายอีกด้วย มิใช่จะพิจารณาแต่เพียงผลได้ผลเสียของโจทก์ผู้ขอถอนฟ้องแต่ฝ่ายเดียว การถอนฟ้องนั้นโจทก์อาจยื่นฟ้องใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์นำเงินไปฝากบริษัทเงินทุนเยาวราช จำกัดจำนวน 189,133 บาท บริษัทได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามบัญชีเลขที่ฝ.8898 เลขที่ 12657/2526 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2526 สัญญาจะจ่ายเงินคืนให้โจทก์ในวันที่ 18 ตุลาคม 2527 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี ตามสำเนาภาพถ่ายตั๋วสัญญาใช้เงินท้ายคำฟ้องหมายเลข 2เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2527 โจทก์ในฐานะผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินตามสำเนาภาพถ่ายท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ได้ยื่นคำขอเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวต่อจำเลยที่ 3 ตามหนังสือแสดงเจตนาขอเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 3118 ลงวันที่ 26 มกราคม 2527บริษัทดังกล่าวรับหนังสือของโจทก์ไว้แล้วปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายใบรับหนังสือท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 แต่ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายท้ายคำฟ้องเอกสารหมายเลข 2 และหมายเลข 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องเป็นสำเนาภาพถ่ายของตั๋วสัญญาใช้เงินตามบัญชีเลขที่ ฝ.8900เลขที่ 12659/2526 สัญญาว่าจะจ่ายเงิน 113,229 บาท แก่นางลาวัณย์ติกคณารักษ์ และสำเนาภาพถ่ายใบรับหนังสือแสดงเจตนาขอเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 1406 ที่จำเลยที่ 3 ออกให้แก่นางลาวัณย์ตามลำดับ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ละเมิดต่อโจทก์หรือผิดสัญญากับโจทก์อย่างไรที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์เรียกร้องเงินจำนวนใดจากจำเลยที่ 1 และที่ 2คำฟ้องขัดกันและบรรยายไม่ชัดแจ้ง ปรากฏว่าโจทก์ทราบข้อบกพร่องของคำฟ้องจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วไม่ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเสียให้แจ้งชัดหรือถูกต้องก่อนวันนัดชี้สองสถานและคดีได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2530ซึ่งเป็นวันนัดชี้สองสถานว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้คัดค้านหากโจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องเสียให้แจ้งชัดถูกต้อง โจทก์จึงแถลงว่าเพื่อตัดปัญหาดังกล่าวโจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2แถลงคัดค้านการขอถอนฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า ในวันนั้นถ้าโจทก์ไม่ขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ต้องทำการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทไปตามคำฟ้องคำให้การของคู่ความ และเมื่อมีการชี้สองสถานแล้วศาลอาจไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 วรรคสอง(2) จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ยกข้อบกพร่องของคำฟ้องของโจทก์ขึ้นมาต่อสู้คดีไว้แล้ว คดีเห็นได้ชัดว่าเมื่อไม่อาจแก้ไขข้อบกพร่องของคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยกขึ้นต่อสู้คดีไว้ให้แจ้งชัดและถูกต้องได้แล้ว โจทก์จึงขอถอนฟ้องเพื่อนำคำฟ้องที่ได้เรียบเรียงใหม่แก้ไขข้อบกพร่องและความไม่ถูกต้องต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยกขึ้นต่อสู้ไว้แล้วมายื่นใหม่เป็นการเอาเปรียบจำเลยทั้งสามในเชิงคดี ทำให้จำเลยทั้งสามเสียหาย ปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องได้แล้ว โจทก์ก็ได้นำคำฟ้องมายื่นใหม่เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3476/2531 ของศาลแพ่ง ตามรูปคดีแล้วการอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องกับการให้ดำเนินคดีต่อไปเพราะไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง การได้เปรียบและเสียเปรียบในเชิงคดีจะแตกต่างกันได้พิเคราะห์ผลได้ผลเสียของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นควรไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง

Share