แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สายไฟฟ้าซึ่งเป็นสายดินจะต้องต่อลงดินทุกระยะ 200 เมตรและปลายสายจะต้องต่อลงดินด้วย เพื่อให้สายดินมีค่าเป็นศูนย์กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านเข้าไม่ได้ ขณะเกิดเหตุสายไฟฟ้าที่พาดเสาไฟฟ้าทั้ง 22 ต้น เป็นระยะทางถึง 840 เมตร มีสายดินต่อลงดินเพียงแห่งเดียวคือที่เสาไฟฟ้าต้นที่ 22 จึงไม่ทำให้สายดินมีค่าเป็นศูนย์ กระแสไฟฟ้าย่อมไหลผ่านเข้าไปได้ การที่สายไฟฟ้าซึ่งเป็นสายดินพาดระหว่างเสาไฟฟ้าต้นที่ 17 กับต้นที่ 18 ที่ปักอยู่ในสวนของผู้ตายได้ขาดตกลงมาในท้องร่องซึ่งมีน้ำขัง ผู้ตายไปเปิดน้ำเข้าสวนถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ทำการพาดสายไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 3 คน ขณะผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้อุปการะโจทก์และบุตรการที่จำเลยทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้บุตรโจทก์ขาดไร้อุปการะ จึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรโจทก์ เช่นนี้ มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าบุตรโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนแต่บุตรโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เยาว์ยังฟ้องคดีเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมจึงฟ้องแทน ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องทั้งในนามตนเองและในนามบุตรทั้งสามโดยปริยาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของนายบัญชา หงษ์ประชา ผู้ตายโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ เด็กหญิงรัชดาพรเด็กหญิงสุดาวรรณ และเด็กชายสุรศักดิ์ หงษ์ประชา อายุ 9 ปี,5 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ เมื่อประมาณวันที่ 20 ตุลาคม 2524สายไฟฟ้า (สายเปลือย) ที่วางสายผ่านที่สวนของโจทก์เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ขาดตกลงมาในสวนของโจทก์ซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชน ผู้ตาย ออกไปทำสวนและได้ลงไปในคูน้ำเพื่อเปิดน้ำเข้าสวนระหว่างนั้นไม้ไผ่ที่ชาวบ้านใช้ค้ำสายไฟฟ้าไว้ชั่วคราวล้มลงสายไฟฟ้าได้ตกลงไปในน้ำกระแสไฟฟ้าจึงดูดผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายมีอาชีพทำสวนทำไร่ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีรายได้เหลือจากเลี้ยงดูครอบครัวไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,000 บาท ได้แบ่งให้โจทก์ใช้จ่ายส่วนตัวเดือนละไม่ต่ำกว่า 2,500 บาท ทั้งยังให้การเลี้ยงดูและการศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสามคนด้วย ทำให้โจทก์และบุตรต้องขาดไร้อุปการะ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนคือ ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ ค่าขาดไร้อุปการะสำหรับบุตรทั้งสามจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะขอบังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 502,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบัญชาผู้ตาย บุตรทั้งสามของโจทก์ก็ไม่ใช่บุตรของผู้ตาย โจทก์และบุตรไม่ใช่ผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตายโจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายตามฟ้องให้บุตรทั้งสามของโจทก์สายไฟฟ้าในที่เกิดเหตุถูกต้องตามมาตรฐานทางเทคนิคและความปลอดภัยวันที่สายไฟฟ้าขาดมีฝนและพายุแรงจัดทำให้กิ่งไม้ไปฟาดสายไฟฟ้าขาดอันเป็นอุบัติเหตุ มิใช่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 381,600 บาท(ที่ถูกเป็น 406,000 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 484,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ความตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมา โดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบัญชา หงษ์ประชา ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ เด็กหญิงรัชดาพร เด็กหญิงสุดาวรรณ และเด็กชายสุรศักดิ์ หงษ์ประชา อายุ 9 ปี 5 ปี และ 3 ปี ตามลำดับสายจำหน่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งต่อจากสายเมน ข้างถนนวัดไร่ขิงเลียบไปตามลำคลองบางพร้าว หมู่ที่ 5 ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพรานจังหวัดนครปฐม อยู่ในความควบคุมดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามพราน สายจำหน่ายกระแสไฟฟ้าดังกล่าวมี 3 สาย เป็นสายดิน 1 สาย และสายไฟ 2 สาย พาดบนเสาคอนกรีตรวม 22 ต้นเสาไฟฟ้าต้นหนึ่ง ๆ ปักห่างกัน 40 เมตร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2524สายไฟฟ้าซึ่งเป็นสายดินพาดระหว่างเสาไฟฟ้าต้นที่ 17 กับต้นที่ 18ปักอยู่ในสวนของโจทก์และผู้ตายได้ขาดตกลงมา ทำให้ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าถัดจากต้นที่ 18 ไปถึงปลายสายต้นที่ 22 ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ต่อมาจึงมีผู้นำสายไฟฟ้าไปต่อเชื่อมสายดินที่ขาด แล้วใช้ไม้รวก ค้ำสายดังกล่าวไว้ ครั้นวันที่ 29 ธันวาคม 2524 ผู้ตายไปเปิดน้ำเข้าสวน และถึงแก่ความตายในท้องร่องซึ่งมีน้ำขังระหว่างเสาไฟฟ้าต้นที่ 17 กับต้นที่ 18 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดที่จำเลยฎีกาในข้อแรกว่าสายไฟฟ้าที่ขาดเป็นสายดินไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ผู้ตายจึงมิได้ตายเนื่องจากถูกกระแสไฟฟ้าจากสายดินดังกล่าวนั้น คดีได้ความจากคำเบิกความของนายบุญเพิ่มเจริญกูล พยานจำเลย ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าส่วนเทคนิค เขตการไฟฟ้า 3 และคำเบิกความของนายสันติพงษ์ วงศ์พยัคฆ์ พยานโจทก์ทำนองเดียวกันว่า สายไฟฟ้าซึ่งเป็นสายดินนั้นจะต้องต่อลงดินทุก ๆ ระยะ 200 เมตร และปลายสายจะต้องต่อลงดินด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สายดินมีค่าเป็นศูนย์จริง ๆ กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านเข้าไม่ได้แต่จากการเผชิญสืบสถานที่เกิดเหตุของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 5กรกฎาคม 2527 ได้ความว่า สายไฟฟ้าที่พาดเสาเลียบลำคลองบางพร้าวทั้ง 22 ต้นนี้มีสายดินที่ต่อลงดินเพียง 2 แห่ง คือที่เสาไฟฟ้าต้นสุดท้าย 1 แห่ง กับที่เสาไฟฟ้าต้นที่ 12 อีก 1 แห่งสำหรับสายที่ต่อลงดินที่เสาต้นที่ 12 นี้ สังเกตเห็นมีการขุดดินใหม่ และใส่ท่อเอสล่อนใหม่ ซึ่งความในข้อนี้เจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์ คือนายทองสุข สุขถาวร ผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุและนายสันติพงษ์ วงศ์พยัคฆ์ ที่ว่าขณะเกิดเหตุมีสายไฟฟ้าที่ต่อลงดินเพียงแห่งเดียวคือที่เสาไฟฟ้าต้นที่ 22 ส่วนสายดินที่ต่อลงดินตรงเสาไฟฟ้าต้นที่ 12 นั้น ฝ่ายจำเลยเพิ่งมาจัดทำขึ้นหลังจากเกิดเหตุแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุสายไฟฟ้าที่พาดเสาไฟฟ้าทั้ง 22 ต้น มีสายดินที่ต่อลงดินเพียงแห่งเดียวคือที่เสาไฟฟ้าต้นที่ 22 เมื่อเสาไฟฟ้าต้นหนึ่ง ๆ ปักห่างกัน40 เมตร รวม 22 ต้น เป็นระยะทางถึง 840 เมตร เช่นนี้การที่จำเลยทำการต่อสายดินที่เสาสุดท้ายเพียงแห่งเดียว จึงไม่ทำให้สายไฟฟ้าซึ่งเป็นสายดินมีค่าเป็นศูนย์ กระแสไฟฟ้าย่อมไหลผ่านเข้าไปได้ และในเรื่องนี้นายศักดา โตเจริญ พยานจำเลย ซึ่งเป็นผู้จัดการไฟฟ้าอำเภอสามพรานก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ที่เกิดเหตุมีสายเปลือย 1 เส้น สายหุ้ม 1 เส้น สายหุ้มคือสายซึ่งมีกระแสไฟฟ้า สายเปลือยคือสายดินซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเช่นกันดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่า สายไฟฟ้าที่ขาดเป็นสายดินไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจึงขัดต่อพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้น เมื่อคดีได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจโทสิทธิศักดิ์ ภู่ลาย พนักงานสอบสวนและนายวิชาญ เอกเจริญโอสถ แพทย์ประจำตำบลผู้ชันสูตรพลิกศพผู้ตายว่า สภาพศพของผู้ตายมือและเท้าเกร็ง นายวิชาญใช้ไขควงตรวจวัดสายไฟที่ขาดในที่เกิดเหตุ ปรากฏว่ามีกระแสไฟฟ้า จึงลงความเห็นว่าผู้ตายถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตาย ตามรายงานชันสูตรพลิกศพเอกสารหมาย จ.3 เช่นนี้ การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ที่ทำการพาดสายไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐานและเมื่อสายไฟฟ้าขาดตกลงมา ก็ไม่รีบจัดการแก้ไข จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตายส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ว่า การที่สายไฟฟ้าขาดใกล้บ้านโจทก์และผู้ตาย เมื่อชาวบ้านเอาสายไฟฟ้ามาต่อสายที่ขาด โจทก์และผู้ตายก็ไม่ห้ามปราม ทั้งไม่แจ้งเหตุให้การไฟฟ้าอำเภอสามพรานไปแก้ไขถือว่าโจทก์และผู้ตายมีส่วนประมาทร่วมด้วยนั้น คดีได้ความจากคำเบิกความของนายทองสุขผู้ใหญ่บ้านว่าได้แจ้งเหตุที่สายไฟฟ้าขาดให้การไฟฟ้าอำเภอสามพรานทราบหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยมาแก้ไข ศาลฎีกาเห็นว่า คำของนายทองสุขซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่เกิดเหตุมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานจำเลยที่กล่าวอ้างแต่เพียงว่าไม่มีหลักฐานการรับแจ้งเหตุขัดข้องในสมุดรับแจ้ง โจทก์และผู้ตายจึงไม่มีส่วนประมาทร่วมด้วยดังที่จำเลยอ้าง
ที่จำเลยฎีกาในข้อต่อมาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นส่วนตัวไม่ได้ฟ้องแทนในฐานะผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรของโจทก์นั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ เด็กหญิงรัชดาพร เด็กหญิงสุดาวรรณ และเด็กชายสุรศักดิ์ หงษ์ประชา อายุ 9 ปี 5 ปี และ 3 ปี ตามลำดับขณะผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้อุปการะโจทก์และบุตรของโจทก์ การที่จำเลยทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้บุตรโจทก์ขาดไร้อุปการะ จึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรโจทก์เช่นนี้มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าบุตรโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนนั่นเอง แต่เพราะเหตุที่บุตรโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เยาว์ ยังฟ้องคดีเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมจึงฟ้องแทน ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องทั้งในนามของตนเองและในนามของบุตรทั้งสามโดยปริยาย”
พิพากษายืน