คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2898/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ถ้าผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการหรือพนักงานขององค์การและหน่วยงานของรัฐ จะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันกระทำความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีนมีปริมาณเกินกว่า 100 กรัม ซึ่งตามมาตรา 66 วรรคสองมีโทษสองสถานคือจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต เมื่อศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตแก่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 แล้ว การที่ศาลกำหนดโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นข้าราชการและพนักงานองค์การและหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้สูงกว่าโทษของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 นั่นเอง หาใช่เป็นการเปลี่ยนโทษหรือเพิ่มโทษจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นประหารชีวิตไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นพนักงานสังกัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำเลยที่ 5 เป็นพนักงานสังกัดการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 7 และที่ 8 เป็นข้าราชการทหารประจำการ ได้ร่วมกันมีเฮโรอีนไดรคลอไรด์ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงประเภท 1 จำนวน 20 ถุง น้ำหนักรวม 6.950 กิโลกรัมราคา 1,042,500 บาท ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาตและไม่เป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ จำเลยทั้งแปดคนได้ร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ล่อซื้อในราคา 1,200,000 บาท โดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 100,102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และริบของกลางด้วย จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง ให้จำคุกตลอดชีวิต ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 100 ให้ประหารชีวิต ริบเฮโรอีนของกลางและริบรถยนต์เก๋งยี่ห้อเฟียต หมายเลขทะเบียน พิษณุโลก ก-2025 กับรถยนต์ปิกอัพหมายเลขทะเบียน พิษณุโลก น-6539 ของกลางซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จำเลยทั้งแปดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ไว้ตลอดชีวิตนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งเฮโรอีนของกลางตามที่โจทก์ฟ้องจริง พยานจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์
คดีมีปัญหาต่อไปตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมาตรา 66 ประกอบกับมาตรา 100 โดยให้ลงโทษประหารชีวิตนั้นเป็นการเปลี่ยนจากโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษประหารชีวิตหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 66วรรคสอง ผู้กระทำผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีนซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารสุทธิเกิน 100 กรัม ต้องระวางโทษเป็นสองสถาน คือ จำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต และตามมาตรา 100 ถ้าผู้กระทำผิดดังกล่าวเป็นข้าราชการหรือพนักงานองค์การและหน่วยงานของรัฐจะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 5 เป็นพนักงานองค์การและหน่วยงานของรัฐ ส่วนจำเลยที่ 7 ที่ 8เป็นข้าราชการ การลงโทษจำเลยดังกล่าวต้องปรับเข้าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 100 ซึ่งจะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แต่เมื่อความผิดตามมาตรา 66 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้สูงกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตซึ่งลงแก่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 นั่นเองหาใช่เป็นการเปลี่ยนโทษหรือเพิ่มโทษจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นประหารชีวิตไม่ ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะที่เกี่ยวกับการลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share