คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “กรรมการ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1172 วรรคแรก หมายถึง คณะกรรมการ มิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน เมื่อกรรมการคนใดเห็นควรจะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นก็ชอบที่จะนัดเรียกประชุมกรรมการเพื่อพิจารณากันเสียก่อนและมติของกรรมการจะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ เมื่อผู้คัดค้านเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าวการนัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนและบริษัท แต่ก็หาทำให้การประชุมใหญ่และการลงมติที่ได้เกิดขึ้นจริงไม่เป็นการประชุมใหญ่และการลงมติตามกฎหมายไม่ ดังนั้น การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงต้องร้องขอภายในกำหนด1 เดือน นับแต่วันลงมติ.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นกรรมการของบริษัทโซดาสตรีมซัพพลาย จำกัด กรรมการอื่นของบริษัทได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นและลงมติโดยมิชอบ ขอให้สั่งเพิกถอนมติดังกล่าว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า การเรียกประชุมใหญ่และการลงมติได้กระทำไปโดยชอบ ผู้ร้องมิได้ร้องขอให้เพิกถอนมติภายใน 1เดือน จึงหมดสิทธิขอเพิกถอนแล้ว
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทโซดาสตรีมซัพพลาย จำกัด มีกรรมการ 3 คน คือ ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2528 กระทำโดยผู้คัดค้านทั้งสอง ปัญหาว่าผู้คัดค้านทั้งสองมีอำนาจเรียกประชุมดังกล่าวได้หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1172 วรรคแรกบัญญัติว่า กรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่เห็นสมควศาลฎีกาเห็นว่า คำว่ากรรมการตามมาตรานี้หมายถึงคณะกรรมการ มิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใด หรือหลายคน การจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญหรือไม่ กรรมการคนหนึ่งคนใดชอบที่จะนัดเรียกประชุมกรรมการเพื่อพิจารณากันเสียก่อนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1162 มติของกรรมการจะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา1161 ปรากฏว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเรียกประชุมใหญ่โดยมิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าว ดังนั้น การนัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท แต่หาทำให้การประชุมใหญ่ และการลงมติที่เกิดขึ้นจริงไม่เป็นการประชุมใหญ่และการลงมติตามกฎหมาย การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงต้องร้องขอภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันลงมติ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1195 ผู้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือนนับแต่วันลงมติ ศาลจึงต้องยกคำร้องของผู้ร้อง
พิพากษายืน.

Share