คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องในข้อหามีภาชนะและเครื่องมือใช้สำหรับทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาทำและขายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา5,30 มาเป็นแต่ละกรรม และของกลางก็เป็นคนละส่วนกันทั้งสภาพความผิดก็สามารถแยกออกเป็นต่างกรรมกันได้ จึงเป็นความผิดคนละกรรมต่างกัน ส่วนความผิดฐานมีสุราไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานมีแสตมป์สุราปลอมนั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติความผิดในโทษทั้งสองฐานนี้ไว้คนละมาตราและสภาพความผิดก็เห็นได้ชัดว่าแยกต่างหากจากกัน ดังนี้Sการกระทำของจำเลยสองกรรมหลังนี้จึงเป็นคนละกรรม และเป็นคนละกรรมกับความผิดในสองกรรมแรก.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีกรรไกรตัดเล็บ 1 อัน ตรายาง ต.จ.ว. 1 อันตราประทับวันเดือนปี 1 อัน หมึกพิมพ์ 1 อัน เครื่องปั๊มปิดฝาขวด 1อัน ตัวพิมพ์ตะกั่ว 100 ตัวน้ำยาล้างหมึกพิมพ์ 1 ขวด สีหมึกพิมพ์สีแดง 1 กระป๋อง แท่นสกรีนไม้ 2 อัน ฝาจุกสุราแม่โขงปลอม 284 ฝายางลบ 2 อัน ที่เย็บกระดาษ 1 อัน ขวดเปล่าแอลกอฮอล์ 60 ขวดหม้ออะลูมิเนียม 1 ใบ อันเป็นภาชนะและเครื่องมือที่ใช้สำหรับทำสุรา ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิตหรือผู้ทำการแทน กับนำภาชนะเครื่องมือที่มีไว้ในครอบครองดังกล่าวทำสุรากลั่นมีปริมาณน้ำสุรารวม 2.000 ลิตรและนำสุราที่ทำขึ้นดังกล่าวออกขายแก่ผู้มีชื่อจำนวน 2 ขวดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิตหรือผู้ทำการแทนและมีสุรากลั่นที่ทำขึ้นดังกล่าวไว้ในความครอบครอง จำนวน1 หม้อ กับ 6 ขวด มีปริมาณสุรา 2.000 ลิตร โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับมีแสตมป์สุราซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นแสตมป์ปลอม จำนวน 964 ดวง โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลหนองโสนอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจบุรีตามวันเวลาเกิดเหตุเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยกรรไกรตัดเล็บ ตรายาง ต.จ.ว. ตราประทับวันเดือนปี หมึกพิมพ์ เครื่องปั๊มปิดฝาขวดตัวพิมพ์ตะกั่ว น้ำยาล้างหมึกพิมพ์ สีหมึกพิมพ์สีแดงแท่นสกรีนไม้ ฝาจุกสุราแม่โขงปลอม ยางลบ ที่เย็บกระดาษ ขวดเปล่าแอลกอฮอล์ อันเป็นภาชนะเครื่องมือที่มีไว้และใช้ทำสุราดังกล่าว และยึดได้สุราแม่โขงปลอมบรรจุหม้ออะลูมิเนียม 1 ใบปริมาณน้ำสุรา 1.500 ลิตร สุราแม่โขงปลอมบรรจุขวดขนาด 0.750ลิตร จำนวน 6 ขวด มีปริมาตรสุรา 4.500 ลิตร และแสตมป์สุราปลอม 964 ดวง เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493มาตรา 4, 5, 30, 32, 44, 45 พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2497 มาตรา 4, 6, 12 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 4, 5, 30, 32, 44, 45 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานมีภาชนะและเครื่องมือใช้สำหรับทำสุรา จำคุก 2 เดือน ฐานทำสุราและขายสุรา จำคุก 6 เดือน ฐานมีสุรา ปรับ 1,000 บาท และฐานมีแสตมป์สุราปลอม จำคุก 6 เดือนเรียงกระทงลงโทษแล้วรวมจำคุก 1 ปี 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 เดือน และปรับ500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งให้รับไว้พิจารณาเพียงข้อเดียวว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และจำเลยต้องรับโทษบทหนักที่สุดเพียงบทเดียวหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในข้อหาฐานมีภาชนะและเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาทำและขายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30 นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาเป็นแต่ละกรรมและของกลางก็เป็นคนละส่วนกัน ทั้งสภาพความผิดก็สามารถแยกออกเป็นต่างกรรมกันได้ จึงเป็นความผิดคนละกรรมต่างกันส่วนความผิดฐานมีสุราไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานมีแสตมป์สุราปลอมนั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติความผิดในโทษทั้งสองฐานนี้ไว้คนละมาตรากัน โดยโทษทั้งสองฐานนี้ไว้คนละมาตรากัน โดยโทษฐานมีสุราไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตบัญญัติไว้ในมาตรา 32 และฐานมีแสตมป์สุราปลอมบัญญัติไว้ในมาตรา 44 และสภาพความผิดก็เห็นได้ชัดว่าแยกต่างหากจากกันได้อีกเช่นกัน การกระทำของจำเลยสองกรรมหลังนี้จึงเป็นคนละกรรมต่างกัน และเป็นคนละกรรมกับความผิดในสองกรรมแรกอีกด้วย ซึ่งเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91………….’
พิพากษายืน.

Share