คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกมีเจตนาร่วมกันมาใช้อาวุธปืนยิงนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลาเพราะเหตุเคยมีเรื่องวิวาททำร้ายกับนักเรียนโรงเรียนซึ่งจำเลยกับพวกเรียนอยู่ เมื่อพบผู้ตายกับผู้เสียหายต่างแต่งกายชุดวิทยาลัยเทคนิคยะลาและยืนอยู่ใกล้กัน จึงยิงคนทั้งสองในเวลาต่อเนื่องกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าพวกจำเลยที่ยิงมีเจตนายิงเฉพาะผู้ตายแต่เพิ่มเจตนายิงผู้เสียหายอีกคนหนึ่งในภายหลังเป็นพิเศษแล้ว ก็ต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยกับพวกร่วมกระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่สองกรรมสองกระทง.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมคือใช้อาวุธปืนยิงนายสุนทร นุ่นแก้ว ผู้ตายถึงแก่ความตาย และยิงนายอับดุลฮาดี คือราแม ผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ช่องท้อง แต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288, 80, 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และ 288, 80 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำคุก 20 ปีฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 12 ปีรวมจำคุก 32 ปี คำรับสารภาพของจำเลยชั้นจับกุมพอมีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 21 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุนักเรียนโรงเรียนพัฒนาวิทยา มีสาเหตุวิวาททำร้ายร่างกายกับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลาวันเกิดเหตุวันที่ 17 กรกฎาคม 2527 เวลา 13 นาฬิกามีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายสุนทร นุ่นแก้ว กับนายอับดุลฮาดี คือราแม ผู้เสียหายนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลา ขณะนายสุนทรกำลังเดินเข้าประตูวิทยาลัยด้านหน้า และขณะผู้เสียหายกำลังยืนคอยรถยนต์โดยสารที่เกาะกลางถนนหน้าวิทยาลัย กระสุนปืนถูกนายสุนทรที่หน้าผากทะลุศีรษะและที่ชายโครงขวา นายสุนทรถึงแก่ความตายทันทีและกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่เอวด้านซ้ายทะลุเข้าช่องท้องตามรายงานแพทย์ท้ายฟ้อง คดีมีปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ได้ความจากผู้เสียหายว่าผู้เสียหายรู้จักจำเลยกับนายมะรอบีนักเรียนโรงเรียนพัฒนาวิทยา มาก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 ปีมาแล้ว ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคือง โดยเฉพาะจำเลยเช่าบ้านอยู่ซอยเดียวกับผู้เสียหายและเคยกินข้าวด้วยกัน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2527 เวลาประมาณ 13 นาฬิกาขณะที่ ผู้เสียหายยืนคอยรถยนต์โดยสารที่เกาะกลางถนนหน้าวิทยาลัยเตรียมจะกลับบ้านอยู่นั้น ผู้เสียหายเห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้นายมะรอบีนั่งซ้อนท้ายมาจอดที่หน้าวิทยาลัยห่างผู้เสียหายประมาณ8 เมตร และห่างกลุ่มนักศึกษาหญิงประมาณ 8 เมตร จำเลยหันมาดูผู้เสียหายแต่ไม่พูดอะไร ขณะนั้นนายสุนทรกำลังเดินเข้าประตูวิทยาลัยอยู่ห่างผู้เสียหาย 2-3 เมตร นายมะรอบีได้เดินเข้าไปใช้อาวุธปืนสั้นยิงนายสุนทร 2 นัด นายสุนทรล้มลง และยิงผู้เสียหายถูกที่เอวด้านซ้าย 1 นัด แล้วจะยิงซ้ำอีกแต่จำเลยห้ามไว้ แล้วนายมะรอบีนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จำเลยขับหลบหนีไปมีรถกระบะนำผู้เสียหายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เห็นว่า เหตุเกิดเวลากลางวันผู้เสียหายรู้จักจำเลยกับนายมะรอบีมาก่อน ผู้เสียหายยืนคอยรถยนต์โดยสารห่างจำเลยกับนายมะรอบี และห่างนายสุนทรเพียง 8 เมตร กับ2-3 เมตรตามลำดับ แม้ผู้เสียหายตอบคำถามค้านว่า นายสุนทรเดินผ่านผู้เสียหายไปทางด้านหลัง ผู้เสียหายหันไปมองทางนายสุนทรขณะที่ผู้เสียหายได้ยินเสียงปืนแล้วก็ตาม คำเบิกความผู้เสียหายซึ่งถูกนายมะรอบียิงบาดเจ็บแต่ยังมีสติดีก็มีน้ำหนัก นอกจากนี้นายอิบราฮิม คือราซอ พยานโจทก์ยังเบิกความสนับสนุนผู้เสียหายอีกว่าพยานเรียนอยู่โรงเรียนพาณิชยการ ไปกินอาหารอิสลามที่โรงเรียนพัฒนาวิทยาเป็นประจำและรู้จักจำเลย ก่อนเกิดเหตุ 1 อาทิตย์นักเรียนโรงเรียน พัฒนาวิทยามีสาเหตุวิวาททำร้ายร่างกายกับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลา เช้าวันเกิดเหตุพยานพบจำเลย นายมะรอบี นายอำนวยที่ร้านขายอาหารหน้าโรงเรียนพัฒนาวิทยา คนทั้งสามชวนพยานกับพวกบอกว่าจะไปตีกับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลา นายมะรอบียังได้ให้พยานดูอาวุธปืนขนาด .38 อีกด้วย พยานกลับไปโรงเรียนจนเวลาเกือบ 13 นาฬิกาพยานขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านวิทยาลัยเทคนิคยะลาตามหลังจำเลยซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์เลยไปข้างหน้า และเห็นรถจักรยานยนต์นายอำนวยขับขี่ตามมามีนายมะรอบีซ้อนท้ายมาด้วย พยานขับขี่รถไปถึงหอนาฬิกาก็ได้ยินเสียงปืนจึงย้อนกลับมา พบคนถูกยิงตายหน้าวิทยาลัยเทคนิคยะลาส่วนนายมะรอบีไม่อยู่แล้ว เห็นว่า แม้นายอิบราฮิมจะเบิกความแตกต่างกับคำเบิกความผู้เสียหายบ้างกล่าวคือ ผู้เสียหายอ้างว่า เห็นนายมะรอบีนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จำเลยมาจอดที่หน้าวิทยาลัยเทคนิคยะลา แต่ก็เป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าในวันเกิดเหตุตอนเช้าจำเลย นายมะรอบี นายอำนวย ต่างชวนพยานไปตีกับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลาโดยนายมะรอบีมีอาวุธปืนติดตัว และก่อนเวลามีเสียงปืนดังเล็กน้อย จำเลยกับนายอำนวยต่างขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านที่เกิดเหตุมีนายมะรอบีนั่งซ้อนท้ายไปด้วย ซึ่งเป็นพยานแวดล้อมมัดตัวจำเลยว่าร่วมกระทำผิด ได้ความจากพันตำรวจโทสุรัตน์ เขียนทองพนักงานสอบสวน และร้อยตำรวจดทสุรินทร์ ปาลาเร่ ผู้จับกุมจำเลยต่อไปว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อพันตำรวจโทสุรัตน์รับแจ้งเหตุจากร้อยตำรวจตรีณรงค์ยศแล้วได้ออกไปตรวจที่เกิดเหตุ ทำบันทึก ทำแผนที่สังเขป แสดงที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.3, จ.4 ตามลำดับ และไปสอบปากคำผู้เสียหายที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลา ผู้เสียหายให้การยืนยันว่าจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์มีนายมะรอบีซ้อนท้าย นายมะรอบีใช้อาวุธปืนยิงนายสุนทรและผู้เสียหายตามลำดับ โดยนายอำนวย คงสาลาขับขี่รถจักรยานยนต์อีก 1 คันคอยให้ความคุ้มกัน พันตำรวจโทสุรัตน์ติดตามจับกุมตัวจำเลยที่บ้านตำบลกรงปีนัง แต่ไม่พบ จึงออกหมายจับจนวันที่ 15 กันยายน 2529 หลังเกิดเหตุ 2 ปีเศษ ร้อยตำรวจโทสุรินทร์สืบทราบว่าจำเลยหลบหนี ไปทำงานบริเวณคิวแท็กซี่หน้าโรงพยาบาล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วันรุ่งขึ้นจึงไปจับกุมจำเลยเมื่อแจ้งข้อหา จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมายจ.2 ว่าร่วมกับพวกที่หลบหนีกระทำผิดจริงแต่เมื่อได้ความจากนายอิบราฮิมพยานโจทก์ว่า เช้าวันเกิดเหตุ จำเลย นายมะรอบีนายอำนวยชวนนายอิบราฮิมที่ร้านขายอาหารหน้าโรงเรียนพัฒนาวิทยาให้พากันไปตีกับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลา และได้ความจากผู้เสียหายว่า ขณะเกิดเหตุนายสุนทรผู้ตายกำลังเดินห่างผู้เสียหายเพียงประมาณ2-3 เมตร เมื่อพิเคราะห์บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมายจ.3 แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.4, จ.7 ประกอบแล้วเชื่อได้ว่า จำเลยกับพวกมีเจตนาร่วมกันมาใช้อาวุธปืนยิงนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลา เพราะเหตุเคยมีเรื่องวิวาททำร้ายกับนักเรียนโรงเรียนพัฒนาวิทยา ซึ่งจำเลยกับพวกเรียนอยู่ เมื่อพบนายสุนทรกับผู้เสียหายต่างแต่งกายชุดวิทยาลัยเทคนิคยะลาและยืนอยู่ใกล้กันจึงยิงคนทั้งสองในเวลาต่อเนื่องกัน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงว่า นายมะรอบีพวกจำเลยมีเจตนายิงเฉพาะนายสุนทร แต่เพิ่มเจตนายิงผู้เสียหายอีกคนในภายหลังเป็นพิเศษแล้ว ก็ต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยกับพวกร่วมกระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ไม่ใช่สองกรรมสองกระทงดังที่ศาลล่างวินิจฉัย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวได้ แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยหลายกระทงและจำเลยมิได้ ฎีกาในปัญหาข้อนี้ก็ตาม”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288 และ 288, 80 ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปีคำรับสารภาพของจำเลยชั้นจับกุมพอมีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย 13 ปี 4 เดือน

Share