คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4244/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์ และมีคำสั่งว่าโจทก์กระทำผิดวินัยข้าราชการให้ลงโทษภาคทัณฑ์ไว้ เป็นการปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของทางราชการฝ่ายบริการโดยเฉพาะ เมื่อจำเลยมีคำสั่งไปตามหน้าที่อย่างไรแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ ซึ่งโจทก์ก็ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์แล้ว ส่วนการที่โจทก์จะนำคดีมาสู่ศาลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 จะกระทำได้ต่อเมื่อได้มีการจัดตั้งศาลปกครองแล้ว แต่ขณะนี้ยังมิได้มีการจัดตั้งศาลปกครอง สิทธิของโจทก์ที่จำนำคดีมาสู่ศาลจึงยังไม่มี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยยกเลิกคำสั่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ 389/2528 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2528 ในส่วนของโจทก์ที่ให้ลงโทษทางวินัยภาคทัณฑ์โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาการยกเลิกคำสั่งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามคำฟ้องของโจทก์โจทก์ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบและขั้นตอนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 เมื่อจำเลยได้มีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อทบวงมหาวิทยาลัยและเมื่อทบวงมีคำสั่งยกอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่าจำเลยวินิจฉัยพิจารณาจากการสอบสวนแล้วลงโทษโจทก์ไม่ถูกต้อง โจทก์จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลตามสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 นั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย จำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์ และมีคำสั่งว่าโจทก์กระทำผิดวินัยข้าราชการให้ลงโทษภาคทัณฑ์ไว้ตามคำสั่งที่ 389/2528ลงวันที่ 20 มีนาคม 2528 เป็นการปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีคำสั่งไปตามหน้าที่อย่างไรแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ ซึ่งโจทก์ก็ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์แล้ว ส่วนการที่โจทก์จะนำคดีมาสู่ศาลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518ตามที่โจทก์ฎีกานั้น โจทก์จะกระทำได้ต่อเมื่อได้มีการจัดตั้งศาลปกครองแล้ว แต่ขณะนี้ยังมิได้มีการจัดตั้งศาลปกครองสิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลจึงยังไม่มี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share