คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1826/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยมีกำหนดระยะเวลาจ้าง 1 ปีโดยระบุวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดแห่งสัญญาไว้ และเมื่อสัญญาครบกำหนดแล้วโจทก์จำเลยก็ทำสัญญากันใหม่ปีต่อปี ดังนี้ต้องถือว่าสัญญาจ้างแรงงานนี้เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างเป็นปี ๆ ไปโจทก์จะขอให้นับอายุการทำงานของโจทก์ด้วยการนำระยะเวลาการจ้างในสัญญาทุกฉบับมารวมคำนวณเข้าด้วยกันเพื่อคำนวณค่าชดเชยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยสั่งพนักงานโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 โดยไม่มีกำหนดและไม่จ่ายค่าจ้างและมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 8 ออกจากงาน ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จำเลยให้การว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนและโจทก์ทำงานไม่ครบปีจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ยกฟ้องโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าสัญญาที่โจทก์และจำเลยทำต่อกันนั้นหาใช่เป็นการทำสัญญาขึ้นใหม่โดยคู่กรณีมีเจตนาเลิกสัญญากันและผูกนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้างกันใหม่ในคราวเดียวกันแต่อย่างใดไม่ กรณีเป็นแต่เพียงว่าการที่โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาจ้างกันขึ้นในทุก ๆ ปีนั้นเป็นเพียงการต่ออายุของสัญญาจ้างในลักษณะทำสัญญาจ้างขึ้นใหม่เท่านั้น และแม้จะมีการต่ออายุสัญญากันภายในกำหนดที่จำเลยสั่งหรือไม่ก็ตาม โจทก์ยังทำงานติดต่อกันเรื่อยมาไม่ขาดตอน โจทก์จึงชอบที่จะได้ค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คู่ความรับกันว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยมีลักษณะตามตัวอย่างสัญญาจ้างที่โจทก์ส่งศาล และเมื่อครบกำหนดแล้วจะทำสัญญาจ้างกันใหม่ปีต่อปี ฉบับสุดท้ายทำเมื่อเดือนเมษายน 2530 มีกำหนดเวลา 1 ปี ความในข้อ 1 แห่งสัญญาฉบับสุดท้ายจึงมีข้อความตามตัวอย่างสัญญาจ้างที่ส่งศาลคือได้ระบุไว้ชัดว่าจำเลยตกลงรับโจทก์เข้าเป็นผู้สอนในวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2530 เป็นต้นไป ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2531และโจทก์ตกลงว่าจะทำงานให้จำเลยไปตลอดจนครบระยะเวลาที่กำหนดนี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยตกลงจ้างโจทก์โดยมีกำหนดระยะเวลาจ้างรวมทั้งวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดแห่งสัญญาไว้ สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน คือมีกำหนด1 ปี และในทางปฏิบัติเมื่อสัญญาฉบับเดิมครบกำหนดแล้ว โจทก์จำเลยก็ทำสัญญากันอีกปีต่อปีไป กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างเป็นปี ๆ ไป อายุการทำงานของโจทก์จึงต้องถือตามระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาแต่ละฉบับ โจทก์จะขอให้นับอายุการทำงานของโจทก์ด้วยการนำระยะเวลาการจ้างในสัญญาทุกฉบับมารวมคำนวณเข้าด้วยกันหาได้ไม่”
พิพากษายืน

Share