แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ.2521 กำหนดว่าพนักงานที่ต้องออกจากงานเพราะตาย หรือลาออก ก็ให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จด้วย ข้อบังคับดังกล่าวจึงมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินบำเหน็จแตกต่างไปจากการจ่ายเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ถือได้ว่าเป็นเงินต่างประเภทกัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกต่างหากจากเงินบำเหน็จ การที่จำเลยออกข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จข้อ 9กำหนดว่าพนักงานที่ออกจากงานตาม ข้อ 8 มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียว และถือว่าเป็นเงินค่าชดเชย ตามกฎหมายแรงงานด้วยนั้น จึงขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมไม่มีผลบังคับโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย เป็นเงิน46,140 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ตามข้อบังคับจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพ.ศ. 2521 ข้อ 8 และ 9 กำหนดว่าพนักงานที่ออกจากงานโดยองค์การแก้วให้ออกโดยมิใช่กรณีแห่งความผิดตามข้อบังคับ มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียว และถือว่าเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย และโจทก์ได้รับเงินบำเหน็จแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเฉพาะกรณีเมื่อมีการเลิกจ้างเท่านั้น ส่วนข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521กำหนดว่า พนักงานที่ต้องออกจากงานเพราะตายหรือลาออก ก็ให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จด้วย ข้อบังคับดังกล่าวจึงมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินบำเหน็จแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ถือได้ว่าเป็นเงินต่างประเภทกัน จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกต่างหากจากเงินบำเหน็จ การที่จำเลยออกข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ ข้อ 9 กำหนดว่า พนักงานที่ออกจากงานตามข้อ 8มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียว และถือว่าเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วยนั้น จึงขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมไม่มีผลบังคับ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.