คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3956/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อายุความเรียกร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลของลูกหนี้ตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 113 อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 240ซึ่งห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน การที่ผู้ร้องฟ้องคดีล้มละลายและแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการฉ้อฉลตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 113 มิใช่เป็นการฟ้องคดีตาม ป.พ.พ.มาตรา 175 อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดอยู่.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องแถลงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ลูกหนี้เคยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 39252 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ลูกหนี้ได้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายวิฑิตวงษ์โกวิท เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการโอนตามมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่เพิกถอนการโอนดังกล่าว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2530ไม่เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 39252 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างลูกหนี้ผู้โอนกับนายวิฑิต วงษ์โกวิท ผู้รับโอนเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ทำให้ผู้ร้องเสียหายเพราะลูกหนี้เป็นหนี้ค่าภาษีอากรผู้ร้องจำนวน 74,334.73 บาท ผู้รับโอนซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทดังกล่าวจากลูกหนี้ในราคา 410,000 บาทโดยชำระเงินจำนวน 301,841.31 บาท ให้แก่ลูกหนี้ เพื่อนำไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารกสิกรไทย ผู้รับจำนองจึงมีเงินเหลืออีกเพียง 100,000 บาทเศษ ในขณะนั้นผู้รับโอนไม่ทราบแน่ชัดว่าลูกหนี้มีหนี้สินกี่รายและเป็นเงินเท่าใด เพียงแต่ทราบจากคำบอกเล่าของลูกหนี้ว่ามีเจ้าหนี้เพียงรายเดียวคือผู้ร้องนอกจากนั้นลูกหนี้และผู้รับโอนเป็นญาติกันพฤติการณ์แสดงว่าลูกหนี้ได้โอนขายที่ดินให้แก่ผู้รับโอน โดยลูกหนี้รู้อยู่ว่าเป็นทางทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉล และที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องรู้ความจริงอันเป็นเหตุให้เพิกถอน นับแต่วันโอนจนถึงวันที่ฟ้องเป็นเวลาเกิน 1 ปีแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 นั้นผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องเป็นนิติบุคคลการนับเวลาดังกล่าวจึงต้องถือเอาความรู้ของอธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล เจ้าหน้าที่ของผู้ร้องเพิ่งรายงานให้อธิบดีทราบเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2528นับถึงวันฟ้องเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2529จึงยังไม่เกิน 1 ปี ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ไม่เพิกถอนการโอนที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเสีย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทราบข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เพิกถอน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2528แต่ผู้ร้องแถลงให้ผู้คัดค้านทราบเรื่องเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2529โดยมิได้ส่งหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินและหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจดำเนินการร้องขอให้เพิกถอนการโอนภายในกำหนดเวลา 1 ปีได้ คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว
ชั้นพิจารณา ผู้ร้องและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงขอให้ศาลวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและเอกสารที่อ้างส่งทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกผู้รับโอนตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวน ปรากฏว่าล่วงพ้นอายุความแล้ว กรณีจึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างลูกหนี้กับผู้รับโอนได้ คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ว่าการเพิกถอนการฉ้อฉลรายนี้ขาดอายุความชอบแล้ว มีคำสั่งยืนตามคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องโดยอธิบดีกรมสรรพากรทราบเหตุที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมอันเป็นทางให้ผู้ร้องเสียเปรียบ อันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลเมื่อวันที่ 24ธันวาคม 2528 และผู้ร้องได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการฉ้อฉล เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2529ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ร้องทราบเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ทั้งเมื่อผู้ร้องได้เรียกร้องฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลภายในอายุความแล้ว ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดอยู่จนกว่าศาลจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จไปเป็นประการอื่น คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายนี้ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ ผู้ร้องได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอต่อศาล ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 อายุความการเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น จึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ซึ่งห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันเวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนดังกล่าวแม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้จะได้ความว่า ผู้ร้องโดยอธิบดีกรมสรรพากรทราบเหตุที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ร้องเสียเปรียบอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉล เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2528และผู้ร้องได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการฉ้อฉลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2529 ซึ่งยังอยู่ในอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ก็ตาม แต่ก็เป็นการแจ้งให้ดำเนินการ โดยเหลือเวลาอีกเพียง 15 วัน ก็จะครบกำหนดอายุความ 1 ปี ศาลฎีกาเห็นว่าการแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการให้โดยเหลือเวลาอีกเพียง 15 วัน ก็จะครบกำหนดอายุความ1 ปี นับแต่เวลาที่ผู้ร้องรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนดังกล่าวย่อมทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีโอกาสและเวลาเพียงพอที่จะสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการได้โดยเฉพาะผู้ร้องก็มิได้ส่งหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินหรือหนังสือสัญญาซื้อขายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย กว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกผู้ร้องโอนมาสอบสวนก็ล่วงพ้นอายุความแล้ว กรณีจึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ว่าการเพิกถอนการฉ้อฉลรายนี้ขาดอายุความจึงชอบแล้ว ทั้งการที่ผู้ร้องได้ฟ้องคดีล้มละลายและแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการฉ้อฉลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113ดังกล่าว ก็มิใช่การฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 175 อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ได้”
พิพากษายืน.

Share