คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3712/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินไปยังจำเลย ซึ่งเป็น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีพ.ศ. 2531 ของลูกหนี้ตามแบบแจ้งการประเมิน ภ.บ.ท.9 เป็นการปฏิบัติตามวิธีการ ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508มาตรา 48 เพื่อให้จำเลยซึ่งมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ ตามมาตรา 49 หากเห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 นอกจากนี้พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 105 ก็บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้นั้นต่อศาลหาได้ให้แจ้งความเห็นไปยังผู้ขอรับชำระหนี้ไม่ ทั้งความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีผลบังคับ เพราะศาลอาจวินิจฉัย เป็นอย่างอื่นได้ ความเห็นหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ทำให้ผู้ขอรับชำระหนี้เสียหาย การที่จำเลยมีหนังสือไปยังผู้อำนวยการเขตแจ้งว่าหนี้ภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2531 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลัง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่อาจขอรับชำระได้ เท่ากับเป็นเพียงการ แจ้งความคิดเห็นของจำเลยไปยังผู้อำนวยการเขตเท่านั้น ไม่มีผล ผูกพันให้โจทก์จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของจำเลยต่อ ศาลในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 146 การที่จำเลย ไม่ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่และเงินเพิ่มตามกฎหมายแก่โจทก์ เป็นการ โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีดังกล่าว จากจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากร และวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้มีอยู่ในขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดนั้น จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีหน้าที่เข้าไปจัดการ เมื่อจำเลยยังจัดการ ไม่เสร็จโดยมิได้จำหน่ายที่ดินดังกล่าวแล้วเกิดหนี้ค่าภาษีบำรุง ท้องที่ขึ้นตามกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินที่จำเลยมีหน้าที่จัดการ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่แทนลูกหนี้แก่โจทก์ และเมื่อการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายแล้วดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่นั้นแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทตวงโชค จำกัด และบริษัทกอบทิพย์ จำกัดมีหน้าที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2531 แต่บริษัททั้งสองถูกศาลแพ่งสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม2529 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ผู้ล้มละลายมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินและชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี2531 แต่จำเลยมิได้ดำเนินการดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบ เพื่อให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่แต่จำเลยมิได้ชำระและอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีบำรุงท้องที่ และเงินเพิ่มจำนวน 8,426.28 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ของค่าภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งค้างชำระนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า แม้หนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว แต่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์สินแทนลูกหนี้ย่อมมีหน้าที่ต้องเอาเงินของลูกหนี้จ่ายแทนลูกหนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 4114/2528 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้วินิจฉัยว่า หนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2531 เป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีหน้าที่ชำระค่าภาษีนี้ซึ่งทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้แก้ไขคำวินิจฉัยดังกล่าวภายใน 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งโจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อ 3 ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าภาษีตามฟ้องหรือไม่พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางโดยไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลแพ่งภายในกำหนดเวลา 14 วันนับแต่วันที่ได้ทราบคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่เห็นว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินไปยังจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีพ.ศ. 2531 ของลูกหนี้ตามแบบแจ้งการประเมิน ภ.บ.ท. 9 ที่ 8/31และ 67/30 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2531 นั้น เป็นการปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 48เพื่อให้จำเลยซึ่งมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ตามมาตรา 49 หากเห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 แต่อย่างใด นอกจากนี้พระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 105 ก็บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้นั้นต่อศาล หาได้ให้แจ้งความเห็นไปยังผู้ขอรับชำระหนี้ไม่ ทั้งความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีผลบังคับเพราะศาลอาจวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ ความเห็นหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ทำให้ผู้ขอรับชำระหนี้เสียหาย ดังนั้นการที่จำเลยมีหนังสือที่ ยธ. 0305/7718 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2531เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 ไปยังผู้อำนวยการเขตพญาไท แจ้งว่าหนี้ภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2531 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่อาจขอรับชำระได้ อันเป็นการนอกเหนืออำนาจตามกฏหมายเท่ากับเป็นเพียงการแจ้งความคิดเห็นของจำเลยไปให้ผู้อำนวยการเขตพญาไทเท่านั้น จึงไม่มีผลผูกพันให้โจทก์จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของจำเลยต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลในคดีล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146การที่จำเลยไม่ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่และเงินเพิ่มตามกฎหมายแก่โจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีบำรุงท้องที่จากจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยแก้อุทธรณ์ว่าหนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่เกิดขึ้นภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว และมิใช่หนี้อันเป็นผลจากการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าจัดกิจการของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ให้โจทก์นั้น เห็นว่าที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้มีอยู่ ในขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดนั้น จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีหน้าที่เข้าไปจัดการ เมื่อจำเลยยังจัดการไม่เสร็จ โดยมิได้จำหน่ายที่ดินดังกล่าว แล้วเกิดหนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่ขึ้นตามกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินที่จำเลยมีหน้าที่จัดการ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่แทนลูกหนี้แก่โจทก์ ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยประเด็นข้อนี้มาชอบแล้ว ข้อแก้อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้นและเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าภาษีตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัย แต่ประเด็นข้อนี้คู่ความได้แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า การประเมินภาษีบำรุงท้องที่ของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีพ.ศ. 2531 จำนวน 7,021.90 บาท และเงินเพิ่มตามฟ้องให้แก่โจทก์ศาลฎีกาจึงเห็นควรพิพากษาคดีไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาใหม่”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่จำนวน 7,021.90บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มกราคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 500 บาท.

Share