แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นมจำกัด ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ รวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 ดังนั้น เมื่อมีกรณีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของบริษัทลูกหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีอำนาจที่จะฟ้องคดีได้ เดิมจำเลยที่ 1 ออกทุนช่วยการก่อสร้างเป็นเงินประมาณ 3 ล้านบาท แล้วบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ ตกลงให้จำเลยที่ 1เช่าตึกอาคารและโรงงานพิพาทมีกำหนด 20 ปี ซึ่งต่อมาได้มีการจดทะเบียนการเช่าไว้ตามหนังสือสัญญาเช่าลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2513ข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 เช่ามีกำหนด 20 ปีดังกล่าว มีลักษณะเป็นการต่างตอบแทนนอกเหนือจากสัญญาเช่าที่ได้จดทะเบียนไว้ ความผูกพันระหว่างคู่กรณีจึงมิใช่เฉพาะที่ปรากฏในสัญญาเช่าเท่านั้น แต่ต้องผูกพันต่อกันในลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาดังนั้น ถึงแม้ต่อมาการจดทะเบียนการเช่าระหว่างบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ กับจำเลยที่ 1 จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลบทะเบียนการเช่าในคดีที่ธนาคารกรุงไทย จำกัดฟ้องบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้และจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยก็เป็นกรณีที่การเช่าที่จดทะเบียนไว้นั้นถูกลบไปเพื่อประโยชน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้ผู้รับจำนอง ในการที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนอง ในทางที่มิให้มูลค่าของทรัพย์จำนองต้องลดลงเพราะมีภาระติดพันในเรื่องการเช่าที่จดทะเบียนไว้เท่านั้นไม่มีผลที่จะเป็นการยกเลิกหรือเพิกถอนข้อตกลงอันเป็นการต่างตอบแทนระหว่างบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ กับจำเลยที่ 1การที่สัญญาต่างตอบแทนระหว่างคู่กรณียังมีอยู่ แม้ต่อมาบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งได้เข้ามาจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนของลูกหนี้ผู้ล้มละลายที่มีอยู่เดิม และแม้ว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาก็ตามแต่กรณีการฟ้องคดีนี้นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ใช้อำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าว คงอ้างสิทธิในการขับไล่จำเลยที่ 1โดยอาศัยผลของคำพิพากษาที่ถึงที่สุดให้ลบสิทธิการเช่าจากทะเบียนเท่านั้นซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อลบล้างหรือยกเลิกข้อตกลงอันเป็นการต่างตอบแทนระหว่างบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ผู้ล้มละลายกับจำเลยที่ 1 ได้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1เพราะสิทธิที่จะอยู่ในที่พิพาทตามสัญญาต่างตอบแทนของจำเลยที่ 1นั้นยังมีผลบังคับอยู่ กรณีนี้ สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์จะขอให้ขับไล่ได้หรือไม่ก็อยู่ที่ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิให้เช่าช่วงทรัพย์ที่ตนมีข้อตกลงเป็นการต่างตอบแทนกับบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้หรือไม่ซึ่งตามสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าที่จดทะเบียนไว้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า”ผู้เช่ารับว่าจะไม่เอาสถานที่เช่านี้ไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงหรือโอนต่อไปอีกทอดหนึ่งเป็นอันขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ให้เช่าก่อน” อันเป็นการแสดงว่าข้อตกลงที่เป็นการต่างตอบแทนกันระหว่างบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้กับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 จะนำทรัพย์ที่เช่าไปให้เช่าช่วงไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ยินยอมให้เช่าช่วงตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเข้ามาอยู่ในทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะอยู่โดยอาศัยสัญญาต่างตอบแทน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ออกไปได้ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องค่าเสียหายไว้ว่า”ค่าเสียหายของโจทก์มีหรือไม่เพียงใด” ประเด็นที่กำหนดไว้ดังกล่าวจึงไม่มีข้อที่จะต้องวินิจฉัยว่ามีการปลดหนี้ค่าเช่าตามที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นมาในฎีกา เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งการกำหนดประเด็นของศาลชั้นต้นไว้ถือว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไว้เท่านั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ให้ สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเช่าช่วงตึกอาคารและโรงงานพิพาทจากจำเลยที่ 2 อีกต่อหนึ่งนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะนำทรัพย์ของบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ไปให้เช่าช่วง เมื่อมีการนำไปให้เช่าช่วงจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ การที่จำเลยที่ 3เข้าไปอยู่ในอาคารอันเป็นทรัพย์ของบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัดลูกหนี้ จึงเป็นการเข้าไปอยู่โดยละเมิดตั้งแต่ต้น มิใช่จะเป็นละเมิดเมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 3 ออกจากอาคาร จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในการที่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในอาคารที่พิพาทด้วยส่วนเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเป็นหนี้รายเดียวกันกับที่จำเลยที่ 3 พิพาทกับโจทก์ในอีกคดีหนึ่งนั้น มิใช่ประเด็นที่ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสองศาลฎีกาไม่เห็นสมควรที่จะรับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2513 ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามโลหะพันธุ์ ฟ้องขอให้บริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ล้มละลายต่อศาลแพ่ง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2518 และศาลแพ่งพิพากษาให้บริษัทลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2520 บรรดาอำนาจจัดกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้จึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 บริษัทลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกอาคารและโรงงานพิพาท ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 18057 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2510 บริษัทลูกหนี้ได้นำตึกอาคารและโรงงานชั้นล่างชั้นบน เนื้อที่ 752 ตารางวา ให้จำเลยที่ 1 เช่ามีกำหนด20 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2510 ค่าเช่ารวม 4,917,800 บาทและได้มีการจดทะเบียนการเช่าเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2513หลังจากได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เช่าตึกอาคารและโรงงานแล้วแต่ก่อนจดทะเบียนการเช่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2510 บริษัทลูกหนี้ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 18057 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจำนองไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัดเป็นเงิน 19,000,000 บาท เพื่อเป็นประกันหนี้ของตนเอง ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2516 จำเลยที่ 1 ได้นำตึกอาคารและโรงงานที่เช่าจากบริษัทลูกหนี้ไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงมีกำหนด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท ครบสัญญาแล้วมีการต่อสัญญาเช่าช่วงออกไปอีก 3 ปี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2518 จำเลยที่ 2 ผู้เช่าช่วงได้นำตึกอาคารและโรงงานที่เช่าช่วงจากจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงต่อไปในพื้นที่ 1,752 ตารางเมตร มีกำหนด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ30,660 บาท นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2518 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม2521 ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2523 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายเรื่องนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้ผู้รับจำนองได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้ฟ้องบริษัทลูกหนี้ผู้ให้เช่า และบริษัทผลิตภัณฑ์ป๊อบ จำกัด ผู้เช่า ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าตึกอาคารและโรงงานตามสัญญาเช่าลงวันที่ 3 พฤษภาคม2510 ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาให้ลบสิทธิการเช่าเสียแล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2521 จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจนำทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วง และจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีอำนาจนำไปให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงอีกต่อหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 นำทรัพย์สินดังกล่าวไปให้เช่าช่วงจึงไม่ผูกพันบริษัทลูกหนี้อีกต่อไป จำเลยทั้งสามจะต้องชดใช้ค่าเสียหายในการนำทรัพย์สินไปใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2521 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ลบสิทธิการเช่าเป็นต้นไป โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามออกจากสถานที่เช่าแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ยอมออกจากสถานที่เช่า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สิน หากให้บุคคลอื่นเช่าจะได้รับค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,660 บาท เท่าที่จำเลยที่ 3 เช่าจึงขอเรียกค่าเสียหายเดือนละ 30,660 บาท ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม2521 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 866,656 บาท และเดือนละ 30,660 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกไปจากสถานที่เช่าและส่งมอบตึกอาคารโรงงานให้แก่โจทก์ในสภาพเดิม ขอให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากสถานที่เช่า และส่งมอบตึกอาคารโรงงานแก่โจทก์ในสภาพเดิม ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 866,656 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 30,660 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากสถานที่เช่า
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้ลบสิทธิการเช่านั้น มิได้ให้อำนาจโจทก์ฟ้องขับไล่เป็นคดีนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์ที่ให้เช่าเพียงแต่ไม่ให้กระทบกระเทือนในการใช้หนี้จำนองเท่านั้น การจดทะเบียนการเช่า20 ปี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทลูกหนี้นั้นได้กระทำกันก่อนฟ้องล้มละลาย เป็นการเช่าที่มีสิทธิต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเพราะจำเลยที่ 1 ได้ร่วมลงทุนออกเงินค่าก่อสร้างอาคารโรงงานพิพาทให้แก่บริษัทลูกหนี้เป็นเงิน 3 ล้านบาทไปแล้ว แม้การจดทะเบียนการเช่าจะถูกลบเสียจากทะเบียนเพราะเหตุที่จดทะเบียนภายหลังการจดทะเบียนจำนองก็ไม่ทำให้บริษัทลูกหนี้ผู้ให้เช่าจะมาสวมสิทธิฟ้องขับไล่ได้ การที่บริษัทลูกหนี้นำทรัพย์ที่ให้เช่าไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารภายหลัง เป็นการประพฤติผิดสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายถูกลบสิทธิการเช่าไปก่อนกำหนด 7 ปี โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1ได้ร่วมลงทุนช่วยเงินค่าปลูกสร้างไป 3 ล้านบาทคืน ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงได้เกิดข้อพิพาทที่บริษัทลูกหนี้โดยกรรมการที่เป็นชุดของธนาคารกรุงไทย จำกัด ซึ่งเข้ามาดำเนินงานในระหว่างปี 2513-2514 ได้กลั่นแกล้งประพฤติผิดสัญญาเช่า 20 ปีจนทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายคิดเป็นค่าเสียหายรวม5,522,500 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทวงถามค่าเสียหายแล้ว บริษัทลูกหนี้ได้ตกลงประนีประนอมยอมความรับเป็นหนี้ค่าเสียหายจำนวน 5,522,500บาท แก่จำเลยที่ 1 และตกลงให้หักใช้จากค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ต้องส่งให้ตลอดระยะเวลาการเช่าแทน เมื่อโจทก์มาฟ้องขับไล่ในนามบริษัทลูกหนี้ โจทก์จึงรับช่วงหน้าที่ตามสัญญาปลดหนี้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 โดยตรง เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2516 จำเลยที่ 1ได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงโดยมีค่าตอบแทนเพราะจำเลยที่ 2 ได้ลงทุนซ่อมแซมปรับปรุงอาคารที่เช่าช่วงและทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งหมดแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งบริษัทลูกหนี้ยินยอมให้เช่าช่วงได้ โจทก์จึงต้องผูกพันในผลนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่ไม่ให้จำเลยที่ 1 เช่าอยู่เท่ากับว่าโจทก์ผิดสัญญาปลดหนี้ค่าเช่าหักใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เพราะทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้หักค่าเช่าใช้ค่าเสียหายที่ไม่ได้เช่าและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หมดสิทธิที่จะเรียกร้องความเสียหายคืนจากบริษัทลูกหนี้ได้ ขอให้ยกฟ้อง และขอฟ้องแย้งให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาให้จำเลยที่ 1 ได้เช่าอยู่ครบ 20 ปี โดยไม่ต้องชำระค่าเช่าตามสัญญาปลดหนี้ หากจำเลยที่ 1 ไม่อาจอยู่ในที่เช่าได้ครบ 20 ปีก็ให้โจทก์หรือบริษัทลูกหนี้ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นรายเดือน เดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนครบอายุการเช่าในวันที่ 3 พฤษภาคม 2530
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์สืบเนื่องจากโจทก์แพ้คดีที่จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเฮงเค็ลไทย จำกัด จำเลยที่ 3ในคดีนี้ เรื่องค่าเช่าที่ดินแปลงพิพาท จำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้เรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทลูกหนี้เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ในคดีดังกล่าวศาลได้พิพากษาว่าโจทก์คดีนี้ไม่มีอำนาจที่จะเข้ามาจัดกิจการในเรื่องที่ดินแปลงพิพาทและคดีถึงที่สุดโดยโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยร่วมของจำเลยที่ 3ต้องนำเงินที่เรียกเก็บค่าเช่าจากจำเลยที่ 3 ส่งให้แก่จำเลยที่ 2ที่โจทก์ฟ้องว่าบริษัทลูกหนี้ให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินและอาคารมีกำหนด 20 ปีนั้นเป็นความจริง เมื่อบริษัทที่โจทก์เข้าจัดการแทนตามพระราชบัญญัติล้มละลายมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างไรโจทก์ผู้เข้าสวมสิทธิก็ต้องเคารพสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1ให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงย่อมมีสิทธิทำได้เพราะสัญญาเช่าไม่ห้ามในสัญญาเช่าที่จำเลยที่ 1 เช่านั้นรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างและส่วนควบของสิ่งปลูกสร้างด้วย การที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ฟ้องให้บริษัทลูกหนี้เพิกถอนการเช่ากับจำเลยที่ 1 นั้น เนื่องจากสัญญาเช่าระหว่างบริษัทลูกหนี้กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โจทก์จึงต้องรับผิดชอบหน้าที่ผู้ให้เช่าเดิมติดไปด้วย จะเลิกสัญญาไม่ได้ และจะเรียกค่าเช่าหรือค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าล่วงหน้าไปแล้วเป็นเวลา 20 ปี จำเลยที่ 2 ซึ่งอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1จึงมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้เช่าช่วงที่พิพาทโดยถูกต้อง โดยศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขแดงที่ 4384/2522 ซึ่งโจทก์เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 3 ด้วย ได้เคยมีคำพิพากษาว่าการเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ได้ชำระค่าเช่าเดือนละ 30,660 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 มาโดยตลอด ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ลบสิทธิการเช่าระหว่างบริษัทลูกหนี้กับจำเลยที่ 1ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2521 แล้ว ผลของคำพิพากษาดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจนำทรัพย์ไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วง และจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีอำนาจนำทรัพย์ดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงการที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 นำทรัพย์ไปให้เช่าช่วงจึงไม่ผูกพันบริษัทลูกหนี้ต่อไป ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ผิดสัญญาเอาทรัพย์ที่เช่าไปให้เช่าช่วงโดยมิได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทลูกหนี้ผู้ให้เช่าก่อน จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายในการนำทรัพย์สินไปใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2521 เป็นต้นไปโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามออกจากสถานที่เช่าแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมออกจากสถานที่เช่าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากนำไปให้ผู้อื่นเช่า โจทก์จะได้รับค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,660 บาท เมื่อจำเลยไม่ยอมออกจากสถานที่เช่าโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ ที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาและเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้งนั้น เป็นการกล่าวขึ้นมาลอย ๆ ไม่มีหลักฐานสนับสนุนบริษัทลูกหนี้ไม่เคยทำสัญญาปลดหนี้ไว้กับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกจากสถานที่เช่าและส่งมอบตึกอาคารโรงงานแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 490,560 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 30,660 บาท และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากสถานที่เช่า แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 3ไม่ต้องใช้ค่าเสียหายนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2524 เป็นต้นไปแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้และฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยในข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่าบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้นั้น ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2518 และพิพากษาให้ล้มละลาย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2520 เมื่อบริษัทลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้รวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 22 ดังนั้นเมื่อมีกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของบริษัทลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีอำนาจที่จะฟ้องคดีได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสองมีว่า มีสัญญาต่างตอบแทนระหว่างบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้กับจำเลยที่ 1 ผูกพันโจทก์หรือไม่และการเช่าช่วงชอบหรือไม่ ในปัญหานี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า บริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัดลูกหนี้ และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนการเช่าตามหนังสือสัญญาเช่าตึกอาคารและโรงงานลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2513 ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้บริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนลบสิทธิการเช่าออกจากทะเบียน ในคดีที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่2933/2522 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาก่อนที่จะมีการจดทะเบียนการเช่ากันนั้น ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่าเป็นมาอย่างใดจึงได้มีการจดทะเบียนการเช่าดังกล่าวซึ่งมีกำหนดเวลาการเช่าถึง 20 ปี คงมีแต่ทางนำสืบของจำเลยตามคำเบิกความของนายสกล เตชะพูนผล นายกิจจา เตชะพูนผลนายสำรอง เตชะพูนผล ได้ความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกทุนช่วยการก่อสร้างอาคารของบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้เป็นเงินประมาณ 3 ล้านบาท และตกลงให้จำเลยที่ 1 เช่ามีกำหนดเวลา 20 ปี เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มิได้นำสืบถึงเรื่องนี้จึงฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า มีข้อตกลงเป็นการต่างตอบแทนกันนอกเหนือจากที่ปรากฏในสัญญาเช่าที่จดทะเบียนไว้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีข้อตกลงอันเป็นการต่างตอบแทนระหว่างบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้กับจำเลยที่ 1 แล้ว ความผูกพันระหว่างคู่กรณีจึงมิใช่มีเฉพาะเท่าที่ปรากฏในสัญญาเช่าเท่านั้นแต่ต้องผูกพันต่อกันในลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ดังนั้น ถึงแม้ต่อมาการจดทะเบียนการเช่าระหว่างบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ กับจำเลยที่ 1 จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลบทะเบียนการเช่าในคดีที่ธนาคารกรุงไทย จำกัดฟ้องบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ และจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2933/2522 ก็เป็นกรณีที่การเช่าที่จดทะเบียนไว้นั้นถูกลบไปเพื่อประโยชน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัดเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง ในกรณีที่จะมีการบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนอง ในทางที่มิให้มูลค่าของทรัพย์จำนองต้องลดลงเพราะมีภาระติดพันในเรื่องการเช่าที่จดทะเบียนไว้เท่านั้นไม่มีผลที่จะเป็นการยกเลิกหรือเพิกถอนข้อตกลงอันเป็นการต่างตอบแทนระหว่างบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้กับจำเลยที่ 1 การที่สัญญาต่างตอบแทนระหว่างคู่กรณียังมีอยู่ แม้ต่อมาบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้เข้ามาจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ก็มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนของลูกหนี้ผู้ล้มละลายที่มีอยู่เดิม จริงอยู่แม้พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 122 ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาก็ตาม แต่กรณีของการฟ้องคดีนี้นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ใช้อำนาจตามบทกฏหมายดังกล่าว คงอ้างสิทธิในการขับไล่จำเลยที่ 1 โดยอาศัยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2933/2522ที่ให้ลบสิทธิการเช่าจากทะเบียนเท่านั้น ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อลบล้างหรือยกเลิกข้อตกลงอันเป็นการต่างตอบแทนระหว่างลูกหนี้ผู้ล้มละลายกับจำเลยที่ 1 ได้ตามที่วินิจฉัยข้างต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะสิทธิที่จะอยู่ในที่พิพาทตามสัญญาต่างตอบแทนของจำเลยที่ 1 นั้นยังมีผลบังคับอยู่ สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์จะขอให้ขับไล่ได้หรือไม่ก็อยู่ที่ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิให้เช่าช่วงทรัพย์ที่ตนมีข้อตกลงเป็นการต่างตอบแทนกับบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้หรือไม่ ซึ่งข้อตกลงที่เป็นการต่างตอบแทนกันจะมีสาระสำคัญอย่างไรนั้น และข้อเท็จจริงที่จะชี้ให้เห็นได้ว่ามีการตกลงกันในเรื่องนี้อย่างไรนั้นน่าจะเห็นได้จากสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าที่จดทะเบียนไว้ ซึ่งในสัญญาต่อท้ายข้อ 11 มีความระบุไว้ชัดแจ้งว่า “ผู้เช่ารับว่าจะไม่เอาสถานที่เช่านี้ไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงหรือโอนต่อไปอีกทอดหนึ่งเป็นอันขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ให้เช่าก่อน” อันเป็นการแสดงว่าข้อตกลงที่เป็นการต่างตอบแทนกันระหว่างบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ กับจำเลยที่ 1 นั้นจำเลยที่ 1 จะนำทรัพย์ที่เช่าไปให้เช่าช่วงไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1นำสืบพยานบุคคลว่าบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ ยินยอมให้เช่าช่วงได้ก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมาสืบแสดงตามที่กำหนดไว้ในข้อสัญญา จึงไม่อาจรับฟังเอาเป็นความจริงได้ ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเข้ามาอยู่ในทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1มีสิทธิจะอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาต่างตอบแทน โจทก์จึงมีอำนาจที่จะขับไล่จำเลยที่ 2 ออกไปได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อที่สามเรื่องค่าเสียหายว่า บริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ได้ทำสัญญาปลดหนี้ค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเป็นรายเดือนจนครบ 20 ปี โจทก์จึงเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายอีกไม่ได้ เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 นั้นศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องค่าเสียหายไว้ในประเด็นข้อ 4ว่า “ค่าเสียหายของโจทก์มีหรือไม่เพียงใด” ประเด็นที่กำหนดไว้ดังกล่าว จึงไม่มีข้อที่จะต้องวินิจฉัยว่ามีการปลดหนี้ค่าเช่าตามที่จำเลยที่ 1 ได้ยกขึ้นมาในฎีกา จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งการกำหนดประเด็นของศาลชั้นต้นไว้ ถือว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไว้เท่านั้นศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ในจำนวนค่าเสียหายเดือนละเท่าใด ในเมื่อได้วินิจฉัยไว้ในปัญหาข้อสองแล้วว่า จำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิที่จะนำทรัพย์ของบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ไปให้เช่าช่วงได้เมื่อมีการนำไปให้เช่าช่วงจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ การที่จำเลยที่ 3 เข้าไปอยู่ในอาคารอันเป็นทรัพย์ของบริษัทป๊อบผลิตภัณฑ์นม จำกัด ลูกหนี้ จึงเป็นการเข้าไปอยู่โดยละเมิดตั้งแต่ต้น มิใช่จะเป็นละเมิดเมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 3 ออกจากอาคารตามที่กล่าวอ้างในฎีกา จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในการที่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในอาคารที่พิพาทด้วยกัน และการที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 30,660 บาท นั้น เป็นการกำหนดตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่าค่าเช่าอาคารที่พิพาทนั้นอยู่ในอัตราดังกล่าว จึงเป็นการกำหนดที่สมควรแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าค่าเสียหายที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในกรณีนี้เป็นหนี้รายเดียวกันกับที่จำเลยที่ 3 พิพาทกับโจทก์ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 606/2524 นั้น มิใช่ประเด็นที่ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรที่จะรับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้ขับไล่จำเลยที่ 1ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.