คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 849/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือทวงถามของโจทก์ 2 ฉบับได้ถูกส่งไปยังจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยจ่าหน้าซองตรงกับภูมิลำเนาของจำเลยเกือบทั้งหมด ยกเว้นชื่อ เขตที่ผิดจากเขตดุสิตเป็นเขตพญาไท และมีคนในบ้านเลขที่ดังกล่าวลงชื่อรับไว้แทนจำเลยทั้งสองครั้ง จึงเชื่อ ว่าหนังสือทวงถามของโจทก์ทั้งสองฉบับได้ส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ จำเลยมีฐานะการเงินมั่นคง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย สำหรับค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,000 บาท โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 83 ซอยมิตรคาม แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร แต่โจทก์ส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ไปยังบ้านเลขที่83 ซอยมิตรคาม แขวงวชิรพยาบาล เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ทั้งจำเลยมิได้ลงชื่อรับไว้ด้วย จึงถือว่าโจทก์ยังไม่ได้ส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยชอบนั้น เห็นว่า หนังสือทวงถามของโจทก์ลงวันที่4 มีนาคม 2531 และ 17 มิถุนายน 2531 ได้ถูกส่งไปยังจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยจ่าหน้าซองตรงกับภูมิลำเนาของจำเลยเกือบทั้งหมด ยกเว้นชื่อเขตที่จำหน่ายซองผิดจากเขตดุสิตเป็นเขตพญาไทเท่านั้น และมีคนในบ้านเลขที่ดังกล่าวลงชื่อรับไว้แทนจำเลยทั้งสองครั้ง จึงเชื่อว่าหนังสือทวงถามของโจทก์ทั้งสองฉบับได้ถูกส่งไปยังภูมิลำเนาที่อยู่ของจำเลยแล้ว เพราะถ้าหากเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ผู้นำจ่ายส่งหนังสือทวงถามดังกล่าวไปที่อื่นที่มิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ถูกต้องแล้ว เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ผู้นำจ่ายจะต้องส่งหนังสือทวงถามดังกล่าวกลับคืนพร้อมกับแจ้งเหตุขัดข้องว่าหาบ้านตามที่จ่าหน้าซองไม่พบหรือไม่มีตัวผู้รับอยู่ในบ้านอย่างใดอย่างหนึ่งข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน”
พิพากษายืน.

Share