ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5231/2563)

ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5231/2563)

สุธาทิพย์ จุลมนต์ ทัศนชัยกุล[1]

     ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินคนละ 100,000 บาท ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังคงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดและลงโทษปรับยืนตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นการพิพากษายืนตามศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีหรือปรับ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำนองว่าหากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 30 (1) ประกอบมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง โดยเห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อประโยชน์ในธุรกิจของจำเลยที่ ๑ มิใช่เป็นการนำเอาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำ ดัดแปลง งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ออกจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยตรง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงขาดอายุความ นั้น เห็นได้ว่ายังต้องมีการพิจารณาข้อเท็จจริงว่ามีพยานหลักฐานรับฟังได้ว่ามีข้อเท็จจริงยุติเช่นว่านั้นหรือไม่เสียก่อน แล้วนำข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ไปวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวมีผลตามกฎหมายทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นการร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่เพื่อการค้า ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการนี้จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามคู่ความฎีกาตามพรบ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 และ ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก

แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา

กุมภาพันธ์ 2565

[1]เลขานุการแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา

Share