คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2372/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทมีพระบรมราชโองการแสดงถึงพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานที่ดินแก่เจ้ามรดกเพื่อใช้เป็นที่ทำฮวงซุ้ยฝังศพบุคคลในตระกูล ตลอดไปไม่พึงประสงค์ให้บุคคลภายนอกละเมิดสิทธิ เมื่อเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้ผู้สืบตระกูล ต่างมีสิทธิร่วมกันในที่ดินมิให้โอนขายจำหน่ายสิทธิ ทั้งระบุให้ผู้สืบตระกูล มีหน้าที่ปฏิบัติตามพินัยกรรมนั้น หากทำตามความประสงค์ไม่ได้ ก็มีทางแก้ไขเฉพาะวิธีการทำฎีกาทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ข้อความในพินัยกรรมดังกล่าวจะมีลักษณะคล้ายเป็นการก่อตั้งทรัสต์ แต่เมื่อได้กระทำก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับเมื่อ พ.ศ. 2468ก็นับว่าพินัยกรรมส่วนนี้สมบูรณ์ใช้ได้ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1686 พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย่อมมีผลเป็นกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิกเพิกถอนโดยเฉพาะแล้วพระบรมราชโองการนั้นย่อมมีผลอยู่ ฉะนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการรับรองความถูกต้องของพินัยกรรมให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ฝังศพของบุคคลในตระกูลเจ้ามรดกเป็นการถาวรดังความในพินัยกรรม ทั้งทรงห้ามบุคคลใดฟ้องร้องเพื่อบังคับเอาที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หากมีการฟ้องร้องดังกล่าวก็ห้ามมิให้ผู้พิพากษารับฟ้องรับวินิจฉัยคดีให้ผิดไปจากพินัยกรรมนั้น ย่อมมีผลรวมถึงการห้ามมิให้ฟ้องร้องเอาที่ดินพิพาทโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจเป็นช่องทางให้ทายาท หรือผู้จัดการมรดกหลีกเลี่ยงข้อความในพินัยกรรมและขัดต่อพระราชประสงค์ โดยวิธีปล่อยให้ผู้รับโอนที่ดินพิพาทครอบครองปรปักษ์ และใช้ที่ดินพิพาทไปแสวงประโยชน์อย่างอื่นนอกจากใช้เป็นที่ฝังศพของตระกูล เป็นการทำให้วัตถุประสงค์ในพินัยกรรมไร้ผลเมื่อเป็นเช่นนี้ จำเลยจึงไม่อาจยกเอาอายุความครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 28 มกราคม ร.ศ. 109 หรือ พ.ศ. 2433พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินตำบลเขาระฆังทอง อำเภอบางนอน แขวงเมืองระนอง (ปัจจุบันเป็นตำบลบางนอน อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง) เนื้อที่ 375 ตารางเส้นกับ 300 ตารางวา แก่พระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซิมก๊อง ณ ระนอง) เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพญาติวงศ์ในตระกูล ต่อมาวันที่ 25 มกราคม ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2454 พระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ได้ทำพินัยกรรมแสดงความประสงค์ให้ที่ดินที่ได้รับพระราชทานดังกล่าวเป็นที่กลางสำหรับตระกูลสืบไป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พินัยกรรมเป็นไปตามความประสงค์และถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2513 โจทก์อนุญาตให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเนื้อที่ 4 ไร่ ต่อมาโจทก์ประสงค์ให้จำเลยออกไปโดยโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบหลายครั้งแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในกองมรดกของพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและห้ามจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป
จำเลยให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า ที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตที่ดินพระราชทาน โจทก์ไม่ได้อนุญาตให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท แต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ พ.ศ. 2509 ตัวแทนของโจทก์เพิ่งแจ้งให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2528 ว่าที่ดินพิพาทเป็นของตระกูล ณ ระนอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมาย 5ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากที่ดิน ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม ร.ศ. 119 หรือ พ.ศ. 2433พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินตำบลเขาระฆังทอง อำเภอบางนอน แขวงเมืองระนองซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วย มีอาณาเขตทิศเหนือยาว 18 เส้น จดหลักซึ่งกรมการปักไว้เป็นเขต ทิศใต้ยาว 20 เส้น จดตลิ่งลงที่เลนเป็นเขตทิศตะวันออกยาว 20 เส้น 15 วา จดลำคลองเป็นเขต ทิศตะวันตกยาว15 เส้น จดลำคลองเป็นเขตเนื้อที่ดินรวมประมาณ 375 ตารางเส้น กับ300 ตารางวา แก่พระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซิมก๊อง ณ ระนอง) สำหรับทำเป็นฮวงซุ้ยที่ฝังศพญาติวงศ์ในตระกูลปรากฏตามสำเนาพระราชหัตถเลขาเอกสารหมาย ป.จ.6 และเมื่อวันที่25 มกราคม ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2454 พระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ได้ทำหนังสือพินัยกรรมแสดงความประสงค์ให้ที่ดินที่ได้รับพระราชทานดังกล่าวคงไว้เป็นที่กลางสำหรับตระกูลให้อยู่เป็นปกติถาวรสืบไปในภายหน้าขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชโองการให้พินัยกรรมที่ได้ทำไว้มีผลใช้บังคับต่อไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้สลักหลังท้ายหนังสือพินัยกรรมเป็นอันใช้ได้เหมือนหนังสือพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการ ตามสำเนาหนังสือพินัยกรรมและสำเนาพระราชหัตถเลขาเอกสารหมาย ป.จ.4 และ ป.จ.5 ตามลำดับ ต่อมามีการสร้างสุสานฝังศพบุคคลในตระกูล ณ ระนอง ไว้หลายแห่ง พ.ศ. 2498นายบุญศักดิ์ ณ ระนอง ผู้จัดการมรดกของพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ได้แจ้งการครอบครองที่ดินพระราชทาน ตามสำเนา ส.ค.1 เอกสารหมาย ป.จ.8 และ พ.ศ. 2524โจทก์ได้ให้นายพูนผล ณ ระนอง ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน
ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อความในเอกสารหมาย ป.จ.6 เป็นเพียงหนังสือแสดงการพระราชทานกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่พระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) มิใช่ยกให้อย่างถวายที่ดินของวัดหรือยกให้เป็นที่ดินของรัฐ หรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิได้ยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไป ฉะนั้น เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 โจทก์จึงอาจสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ ทั้งสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย ป.จ.4 สำเนาพระราชหัตถเลขาเอกสารหมายป.จ.5 ก็มีผลเพียงว่าเอกสารหมาย ป.จ.4 เป็นพินัยกรรมซึ่งมีผลใช้บังคับระหว่างทายาทในตระกูลผู้รับโอนมรดกของพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) เท่านั้น ไม่มีผลบังคับใช้แก่บุคคลภายนอกรวมทั้งจำเลยด้วยแต่อย่างใดนั้น เมื่อพิเคราะห์สำเนาพระราชหัตถเลขาเอกสารหมาย ป.จ.6 ปรากฏข้อความว่า “…เราได้อนุญาตยกที่นี้ให้แก่พระยารัตนเศรษฐีแล้วพระยารัตนเศรษฐีและผู้ที่จะสืบตระกูลต่อไปจะก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นในที่นั้น ก็ก่อสร้างได้ตามประสงค์ ให้ที่ตำบลซึ่งกล่าวมานี้คงเป็นที่สำหรับฝังศพในตระกูลพระยารัตนเศรษฐีสืบไปผู้ใดผู้หนึ่งจะทำลายรื้อถอนสิ่งที่ตระกูลของพระยารัตนเศรษฐีก่อสร้างไว้โดยความกดขี่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้…” เห็นว่าข้อความในสำเนาพระราชหัตถเลขาเอกสารหมาย ป.จ.6 มีผลเป็นพระบรมราชโองการ แสดงถึงพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จ-พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพระราชทานที่ดินแก่พระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ก็เพื่อใช้เป็นที่ทำฮวงซุ้ยฝังศพบุคคลในตระกูลตลอดไป ไม่พึงประสงค์ให้บุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งละเมิดสิทธิทำลาย รื้อถอนสิ่งที่บุคคลในตระกูลพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ก่อสร้างในที่ดินดังกล่าว ส่วนสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย ป.จ.4 ก็ปรากฏข้อความในข้อ 3 ว่า “…เมื่อข้าพเจ้ามรณภาพแล้วให้ที่บ้าน…ที่ฮวงซุ้ย…เป็นที่กลางสำหรับตระกูลมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดในตระกูลของข้าพเจ้ามีอำนาจที่จะเอาไปจำหน่ายให้ปัน ซื้อขาย แลกเปลี่ยนหรือเอาไปตีเป็นประกันหนี้สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันขาด มิให้นับว่าที่ 2 รายนี้เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใดในตระกูลของข้าพเจ้าเป็นอันขาด” แสดงเจตนารมณ์ว่าให้ผู้สืบตระกูลต่างมีสิทธิร่วมกันในที่ดิน ไม่ให้โอนขายจำหน่ายสิทธิดังกล่าว ทั้งผู้สืบตระกูลยังมีหน้าที่ตามพินัยกรรม ข้อ 5 ว่า “…ให้ผู้สืบตระกูลของข้าพเจ้าเป็นผู้ปกครองรักษาที่ทั้งสองแห่ง …จัดการให้เป็นไปตามคำสั่ง …ถ้าและผู้สืบตระกูลไม่เอาใจรักษา …และมีวงศ์ญาติ …ตั้งแต่สี่คนขึ้นไปพร้อมกันขอให้ผู้สืบตระกูลซึ่งปกครองรักษาที่จัดการ… ให้ต้องตามเจตนาของข้าพเจ้าไม่ได้… ก็ให้ทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ…ขอพระราชทานพระบารมี…เป็นที่พึ่งแล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นควรว่าจะเปลี่ยนผู้ที่สืบตระกูลหรือจะมีพระราชดำรัสสั่งประการใดเป็นเด็ดขาดต้องเป็นไปตามพระราชดำริ…” ซึ่งแสดงว่าพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) เจ้ามรดกมีความประสงค์ไม่ต้องการให้ที่ดินพิพาทเปลี่ยนมือเปลี่ยนเจ้าของไปอยู่กับบุคคลอื่น ซึ่งถ้าหากทำตามความประสงค์ไม่ได้ ก็มีทางแก้ไขเฉพาะวิธีการให้ทำฎีกาทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีลักษณะคล้ายการก่อตั้งทรัสต์ เมื่อได้กระทำก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับเมื่อ พ.ศ. 2468 ก็นับว่าพินัยกรรมในส่วนนี้สมบูรณ์ใช้ได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 ส่วนสำเนาพระราชหัตถเลขาเอกสารหมาย ป.จ.5มีข้อความว่า “ด้วยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) ได้ทำหนังสือพินัยกรรม… แสดงความประสงค์ถึงการรักษาที่ไว้ป้ายและที่ฝังศพพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซุเจียง) ผู้บิดา เพื่อให้เป็นปกติถาวรสืบไปภายหน้า…เห็นว่าเป็นความประสงค์อันแท้จริง…เป็นการทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายแล้ว ถ้าจะมีผู้ใดไปฟ้องร้องว่ากล่าวขอให้เปลี่ยนแปลงไปจากความประสงค์ของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) นี้อย่างหนึ่งอย่างใดห้ามอย่าให้ผู้พิพากษารับไว้พิจารณาให้ผิดไปจากความประสงค์นี้…” ก็มีผลเป็นพระบรมราชโองการแสดงถึงการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรองความถูกต้องของพินัยกรรม และมีพระราชประสงค์ให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ฝังศพบิดาของพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซิมก๊อง ณ ระนอง) กับบุคคลในตระกูลเป็นการถาวรดังข้อความในพินัยกรรม ทั้งทรงห้ามบุคคลใดก็ตามไปฟ้องร้องว่ากล่าวเพื่อบังคับเอาที่ดินพิพาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ถ้ามีการฟ้องร้องดังกล่าวก็ห้ามมิให้ผู้พิพากษารับฟ้องวินิจฉัยคดีให้ผิดไปจากพินัยกรรมซึ่งก็ย่อมมีผลรวมถึงการห้ามมิให้ฟ้องร้องเอาที่ดินพิพาทโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ด้วย ซึ่งถ้าหากยินยอมให้บุคคลภายนอกอ้างสิทธิดังกล่าวได้ ก็ย่อมเป็นช่องทางให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกในตระกูลพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซิมก๊อง ณ ระนอง) เจ้าของที่ดินพิพาทคนใดคนหนึ่งหลีกเลี่ยงข้อความและขัดต่อพระราชประสงค์ในสำเนาพระราชหัตถเลขาเอกสารหมายป.จ.6 และ ป.จ.5 และสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย ป.จ.4 โดยวิธีปล่อยให้ผู้รับโอนที่ดินพิพาทครอบครองปรปักษ์และใช้ที่ดินพิพาทไปแสวงหาประโยชน์อย่างอื่นนอกจากใช้เป็นฮวงซุ้ยที่ฝังศพตระกูลพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง)เป็นการทำให้วัตถุประสงค์ในพินัยกรรมไร้ผลไปได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2475 ฉะนั้น โจทก์จึงอาจสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการที่บุคคลภายนอกรวมทั้งจำเลยครอบครองปรปักษ์ได้นั้น เห็นว่า พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ย่อมมีผลเป็นกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิกเพิกถอนโดยเฉพาะแล้ว พระบรมราชโองการนั้นก็ย่อมยังมีผลอยู่ส่วนการที่ผู้จัดการมรดกของพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) เคยดำเนินการแจ้งส.ค.1 และขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทก็เป็นเพียงวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินพิพาท เท่านั้น จำเลยไม่อาจยกอายุความครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้โจทก์ และฟังได้ว่าจำเลยบุกรุกที่ดินพิพาทเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากที่ดินห้ามเกี่ยวข้องต่อไป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share