แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องแสดงตนและเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าเป็นบุคคลต่างด้าว หาทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิที่จะพิสูจน์ความจริงว่าตนมีสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯมาตรา 57 ไม่ จึงไม่อาจยกเอาเหตุดังกล่าวโดยที่มิได้อ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยมาตัดสิทธิของผู้ร้องและยกคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติได้ ผู้ร้องเกิดในประเทศไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าว มารดาเป็นคนสัญชาติไทย ผู้ร้องได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตาม พ.ร.บ.สัญชาติฯ มาตรา 7(3) ผู้คัดค้านมิได้นำสืบว่าบิดาผู้ร้องเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผัน ได้รับอนุญาต หรือเข้ามา ตามที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 บัญญัติไว้ ดังนี้ผู้ร้องจึงไม่ถูกถอนสัญชาติตามกฎหมาย การที่ผู้ร้องอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และใช้สัญชาติจีน อันเป็นสัญชาติของบิดาตลอดมานั้น กรณีเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้สั่งถอนสัญชาติไทย.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทยเกิดที่หมู่ที่ 3ตำบลท้องลำเจียก อำเภอเชียงใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2468 เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 จากโรงเรียนสตรีประจำอำเภอปากพนัง เมื่อปี 2483 ต่อมาปี 2485 ได้แต่งงานอยู่กินกับนายสีเอ็ง แซ่ลิ่ม มีบุตรด้วยกัน 2 คน ปี 2490 ผู้ร้องและครอบครัวไปเยี่ยมญาติที่อำเภอปุนเซี้ยง จังหวัดกวางตุ้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและพักอยู่อาศัยกับญาติชั่วคราวจนเกิดการปฏิวัติปิดประเทศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย ผู้ร้องและครอบครัวไม่อาจเดินทางกลับประเทศไทยได้ และถูกบังคับให้อยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ชื่อทางทะเบียนว่านางฟู เหลียน จิจนกระทั่งในปี 2515 นายสีเอ็ง ถึงแก่กรรมวันที่ 26 มีนาคม 2523ผู้ร้องเดินทางกลับประเทศไทยและยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อกองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจตามกฎหมาย แต่กรมตำรวจมีคำสั่งยกคำขอขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย ไม่เคยเรียนหนังสือไทยและไม่ได้เป็นบุคคลคนเดียวกับนางล่วนกี่ แซ่เบ้า หากฟังว่าผู้ร้องเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ปรากฏว่าขณะเกิดบิดามารดาผู้ร้องเป็นคนต่างด้าวสัญชาติจีน ไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย บิดามารดาผู้ร้องเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ย่อมถูกถอนสัญชาติโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1อีกทั้งผู้ร้องไปอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและใช้สัญชาติจีนอันเป็นสัญชาติของบิดาตลอดมา ผู้ร้องย่อมถูกถอนสัญชาติไทยเช่นกันผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 57 เพราะผู้ร้องไม่ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยอ้างว่ามีสัญชาติไทยและถูกพนักงานเจ้าหน้าที่โต้แย้งเกี่ยวกับการเข้ามาในราชอาณาจักรไทยว่าเป็นคนต่างด้าว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2523 ผู้ร้องเดินทางจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในประเทศไทยโดยถือหนังสือเดินทางของประเทศดังกล่าวปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือเดินทางเอกสารหมาย ป.จ.3 ต่อมาเมื่อวันที่14 พฤศจิกายน 2523 ผู้ร้องได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา กรมตำรวจได้พิจารณาคำขอของผู้ร้องแล้วมีความเห็นว่า ผู้ร้องมิได้นำเอกสารหลักฐานสำคัญที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์สัญชาติมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นคนเกิดในราชอาณาจักรจึงยกคำขอของผู้ร้องเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2530 ต่อมาวันที่ 28มกราคม 2530 กองกำกับการ 3 กองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ ได้แจ้งผลการขอพิสูจน์สัญชาติให้ผู้ร้องทราบ ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องคดีนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าคนมีสัญชาติไทย” และวรรคสองบัญญัติว่า”การพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้นั้นในวรรคหนึ่งได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยที่อ้างว่าเป็นคนสัญชาติไทยเป็นคนต่างด้าวจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย ส่วนในวรรคสองก็เป็นเรื่องกำหนดวิธีการขอพิสูจน์สัญชาติว่าจะต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตามขั้นตอนเสียก่อน หากไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลได้ บทบัญญัติของกฎหมายที่ว่านี้หาได้บังคับไว้ว่า เมื่อผู้ร้องแสดงตนและเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าเป็นคนต่างด้าวแล้ว จะหมดสิทธิที่จะพิสูจน์ความจริงใหม่แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองแล้ว และพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรับพิจารณาและยกคำขอนั้นผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาลได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกเหตุที่ผู้ร้องถือหนังสือเดินทางของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงว่าเป็นคนสัญชาติจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้อ้างว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยมาตัดสิทธิผู้ร้อง และยกคำร้องขอของผู้ร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีสัญชาติไทยหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า…พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทย โดยเป็นบุตรของนายโหยน แซ่เบ้า คนสัญชาติจีนและนางส้อง แซ่เบ้า คนสัญชาติไทยผู้ร้องจึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ที่ศาลชั้นต้นตำหนิว่าผู้ร้องไม่มีใบสูติบัตรอันเป็นหลักฐานการเกิดมาแสดงและการแจ้งวันเดือนเกิดและสถานที่เกิดของผู้ร้องต่อทางราชการของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามหนังสือเดินทางเอกสารหมายป.จ.3 แผ่นที่ 2 กับที่ปรากฏในใบทะเบียนนักเรียน ตามเอกสารหมาย ร.1ไม่ตรงกัน และว่าตามสำเนาทะเบียนบ้านของนางอนงค์ เอกสารหมาย ร.5และของนางสุจินต์ เอกสารหมาย ร.7 ซึ่งอ้างว่าเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับผู้ร้อง มีชื่อบิดามารดาไม่ตรงกับที่ผู้ร้องอ้างจึงไม่เชื่อว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทยนั้น เห็นว่า ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติ ผู้ร้องมีอายุ 55 ปีแล้ว และผู้ร้องไปอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนานกว่า 30 ปี ใบสูติบัตรย่อมจะสูญหายไปได้ ทั้งผู้ร้องคงจะไม่สามารถจำวันเดือนและสถานที่เกิดได้จึงได้แจ้งต่อทางราชการของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อขอออกหนังสือเดินทางไม่ตรงกับหลักฐานซึ่งผู้ร้องได้มาหลังจากเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ส่วนชื่อบิดามารดาของนางอนงค์และนางสุจินต์ตามสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อว่านายโผน นางสร้อง และนายโหยงนางส่อง ไม่ตรงกับที่ผู้ร้องอ้างว่าชื่อ นายโหยนและนางส้อง นั้นเห็นว่า ชื่อดังกล่าวออกเสียงคล้ายกัน แต่ที่สะกดชื่อผิดกันไปคงเนื่องจากผู้รับแจ้งฟังมาไม่ชัดเจนจึงสะกดชื่อผิดกันไป ศาลฎีกาไม่เชื่อว่าจะเป็นชื่อของบุคคลคนละคนกันจนฟังไม่ได้ว่า นางอนงค์นางสุจินต์ และผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ส่วนในปัญหาที่ว่า ผู้ร้องมีบิดาเป็นคนต่างด้าว ผู้ร้องถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515ข้อ 1 หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้บิดาผู้ร้องจะเป็นคนต่างด้าวแต่ผู้คัดค้านมิได้นำสืบว่า บิดาผู้ร้องเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ผู้ร้องจึงไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามกฎหมายดังกล่าวและในปัญหาที่ว่า ผู้ร้องอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและใช้สัญชาติจีนอันเป็นสัญชาติของบิดาตลอดมา ผู้ร้องได้ถูกถอนสัญชาติไทยหรือไม่นั้น เห็นว่า การถอนสัญชาติเพราะเหตุดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้สั่งตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 17 กรณีของผู้ร้องเมื่อยังไม่มีคำสั่งให้ถอนสัญชาติไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ร้องจึงคงมีสัญชาติไทยอยู่ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…”
พิพากษากลับว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย.