คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1832/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2,8 ซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ไม่มีผู้ใดร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ เมื่อความผิดปรากฏต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนก็ทำการสอบสวนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่1 พฤศจิกายน 2530 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันให้นายวินัย ชัยนุพันธ์ และบุคคลอื่นอีกหลายคนซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติและทำงานในวันหยุดเพื่อประโยชน์แก่การผลิตการจำหน่ายและการบริการของจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำเลยทั้งสองให้นายวินัยทำงานเกินเวลาทำงานปกติไป520 ชั่วโมง โดยมิได้จ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติคิดเป็นชั่วโมงละ 12.62 บาท รวมเป็นเงิน 6,565 บาท ให้นายวินัยอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 2, 8 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2, 3, 11, 34ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3)ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2517 ข้อ 1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2, 8ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 2, 3, 11 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2517 ข้อ 1ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 2,000 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลล่างและให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 2,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้ว ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน 2530 ซึ่งเป็นวันหยุดจำเลยที่ 1ได้เปิดดำเนินการรณรงค์บริการซ่อมรถจักรยานยนต์ให้ลูกค้า จำเลยที่ 1 ให้ลูกจ้างมาทำงานในวันดังกล่าวโดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย แรงงานจังหวัดสุโขทัยได้กล่าวโทษจำเลยทั้งสองต่อพนักงานสอบสวน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า หนังสือกล่าวโทษดังกล่าวมิได้กล่าวหาจำเลยทั้งสองว่าได้กระทำผิดฐานให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2530พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น แต่เห็นว่า เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เห็นว่า ความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 นี้ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ไม่มีผู้ใดร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ เมื่อความผิดปรากฏต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนชอบที่จะทำการสอบสวนได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน

Share