แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บริษัทผู้ขนส่งสินค้าเป็นผู้ว่าจ้างบริษัท อ. โดยตรงให้เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเล บริษัทจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขนสินค้าหรือร่วมขนสินค้าจากเรือเดินทะเลลงเรือเล็ก ลำพังแต่การดำเนินการทางเอกสาร หรือปฏิบัติพิธีการเกี่ยวกับการนำเรือเข้าเทียบท่าในราชอาณาจักร หรือแจ้งกำหนดเวลาเรือเข้าต่อกรมศุลกากรหรือแจ้งต่อเจ้าของสินค้า รวมถึงกำหนดวันขนถ่ายสินค้าตลอดจนวิธีการที่แจ้งให้เจ้าของสินค้านำใบตราส่งไปแลกกับใบปล่อยสินค้าจากนายเรือตามทางปฏิบัติของการขนส่งทางทะเลนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งร่วมกับบริษัทผู้ขนส่งสินค้าและผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิจากเจ้าของสินค้าผู้เอาประกันภัยเรียกเอาค่าเสียหายในกรณีที่สินค้าสูญหายหรือบุบสลายในระหว่างการขนส่ง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าเยื่อกระดาษจากบริษัทไทยเรยอน จำกัด สินค้าดังกล่าวบริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด เป็นผู้รับขนส่งจากเมืองเคทชิกันมลรัฐอลาสกา ประเทศสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย โดยเรือเดินทะเล บริษัทผู้รับขนส่งได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เข้าร่วมขนส่งอีกทอดหนึ่งโดยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยได้ทำการขนถ่ายลงเรือฉลอมของบริษัทแหลมทองสหการ จำกัด เพื่อส่งต่อไปยังบริษัทไทยเรยอน จำกัดในการนี้บริษัทไทยเรยอน จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3จัดเรือฉลอมไปรับขนสินค้า โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้นำเรือเข้าร่วมทำการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กัน ในระหว่างการขนถ่ายสินค้า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้า คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน1,905,547.86 บาท บริษัท ไทยเรยอน จำกัด ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระค่าเสียหาย จำเลยทั้งห้าไม่ชำระจึงได้ทวงถามให้โจทก์ชำระ โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวไปจึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งห้า ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เข้าร่วมทำการขนส่งกับบริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนทำพิธีการเกี่ยวกับการเข้าออกของเรือเดินทะเล โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้บริษัทไทยเรยอน จำกัด โดยผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 การขนส่งสินค้ารายพิพาทมีข้อตกลงให้ผู้ขนส่งรับผิดไม่เกิน 100,000 เยน ต่อหนึ่งหีบห่อผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดเกินจำนวนดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 มิใช่เจ้าของเรือและมิได้ให้ผู้ใดควบคุมเรือดังกล่าวไปรับจ้างขนถ่ายสินค้าพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มิได้ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางน้ำเหตุที่มีชื่อเป็นเจ้าของเรือเพราะนายบุญเหลือ ชินศรีผู้ควบคุมเรือดังกล่าวไปขอกู้เงินจากจำเลยที่ 5 เพื่อซื้อเรือแล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของเรือ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์436,950.31 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 1,381,279.65 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 5
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าเยื่อกระดาษจากบริษัทไทยเรยอนจำกัด ซึ่งทำการขนส่งจากเมืองเคทชิกัน มลรัฐอลาสกา ประเทศสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย โดยบริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด เป็นผู้รับขนส่งทางทะเลโดยใช้เรือบาฮาม่าสตาร์บรรทุกมีจำเลยที่ 1เป็นตัวแทนเรือ เมื่อเรือบาฮาม่าสตาร์ทำการบรรทุกสินค้าดังกล่าวมาถึงประเทศไทยได้ทำการขนถ่ายสินค้าจากเรือบาฮาม่าสตาร์ลงเรือฉลอมแต่เกิดเหตุระหว่างการขนถ่ายสินค้า ทำให้เรือฉลอมหมายเลขทะเบียนกท. 1371 และหมายเลขทะเบียน นว. 0341 รวม 2 ลำ ที่ร่วมบรรทุกสินค้าเยื่อกระดาษพลิกคว่ำจมลง และสินค้าเยื่อกระดาษของบริษัทไทยเรยอนจำกัด ที่บรรทุกอยู่ในเรือทั้งสองลำเสียหาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไทยเรยอน จำกัด ผู้เอาประกันภัยไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายเป็นคดีนี้
มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งร่วมกับบริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด และเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดหรือไม่ ซึ่งในปัญหานี้ โจทก์แก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำการตามหน้าที่ของผู้ขนส่ง ถือได้ว่าเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดแล้ว ข้อโต้แย้งในประการนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเรือของบริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าเยื่อกระดาษรายพิพาทโดยเรือบาฮาม่าสตาร์ เนื่องจากบริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด เป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการขนส่งทางทะเลในต่างประเทศ และเรือบาฮาม่าสตาร์เดินเรือเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งคราว บริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด จึงแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนมีรายละเอียดตามหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเอกสารหมาย ล.1การเป็นตัวแทนดังกล่าวระบุว่า ให้จำเลยที่ 1 กระทำการเป็นตัวแทนในการทำพิธีการเรือเข้าออกของเรือบาฮาม่าสตาร์ และได้กล่าวถึงค่าใช้จ่ายของเรือรวมไปถึงค่าสตีวีโดร์สำหรับสินค้าเยื่อกระดาษด้วยโดยเฉพาะค่าสตีวีโดร์ (STEVEDORAGE) นี้ เมื่อพิเคราะห์จากคำเบิกความของนายนพดล ติยะพงศ์ประพันธ์ พยานจำเลยที่ 1 แล้วก็คือค่าขนถ่ายสินค้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นหรือลงจากเรือเดินทะเลไปที่ท่าเรือ หรือขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลลงมาที่เรือลำเลียงก็ได้ฉะนั้น การเป็นตัวแทนเรือของจำเลยที่ 1 จึงมีข้อพิจารณาที่สำคัญว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำการเป็นตัวแทนเรือโดยขนถ่ายสินค้าลงจากเรือบาฮาม่าสตาร์ตามความเป็นจริง หรือเป็นตัวแทนเรือเกี่ยวกับพิธีการเข้าออกของเรือบาฮาม่าสตาร์หรือที่เกี่ยวข้องทางด้านเอกสารเท่านั้นโดยมิได้ทำการขนถ่ายสินค้าเลย หากมีข้อเท็จจริงเป็นประการแรกจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นทั้งตัวแทนเรือและเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ซึ่งจะต้องรับผิดร่วมกันกับผู้ขนส่งเกี่ยวกับความเสียหายบุบสลายของสินค้าที่รับขน แต่ในทางกลับกัน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมขนถ่ายสินค้าก็ไม่ต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะมีหน้าที่เกี่ยวกับพิธีการนำเรือบาฮาม่าสตาร์เข้าท่า แจ้งกรมศุลกากร และแจ้งกำหนดวันเรือเข้าและวันขนถ่ายสินค้าแล้วจำเลยที่ 1 ยังต้องจัดหากรรมกรไปขนถ่ายสินค้าจากเรือบาฮาม่าสตาร์ด้วย การขนถ่ายสินค้าลงจากเรือใหญ่ที่เรียกกันในทางปฏิบัติว่า สตีวีโตร์ นั้น นายสุรพล ชีพอารนัย เจ้าหน้าที่ของโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ต้องจัดการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือส่วนนายมาโนช อุปะเดีย พยานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทไทยเรยอนจำกัด ก็เบิกความว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่แจ้งการมาถึงของสินค้าให้เจ้าของสินค้าทราบ และทำการขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงในเขตของท่าเรือ หรือลงเรือฉลอมและแจ้งให้เจ้าของสินค้านำใบตราส่งไปแลกใบสั่งปล่อยสินค้า ข้อนำสืบดังกล่าวของโจทก์เมื่อพิจารณาประกอบกับหนังสือแต่งตั้งตัวแทน เอกสารหมาย ล.1 ที่มีข้อความว่าจะส่งเงินค่าสตีวีโดร์สำหรับเยื่อกระดาษมาให้ก่อนที่เรือจะมาถึงแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการอ้างว่าผู้ขนส่งได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1ดำเนินการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือบาฮาม่าสตาร์ และจำเลยที่ 1อยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด แต่อย่างไรก็ตามในข้อเท็จจริงนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาและโต้เถียงว่า จำเลยที่ 1 มิได้เข้าร่วมในการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือบาฮาม่าสตาร์โดยจำเลยที่ 1 นำสืบนายนพดลติยะพงศ์ประพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอเซีย มารีไทม์ เอเยนซีจำกัด ว่า บริษัทของพยานเป็นผู้รับจ้างขนถ่ายสินค้าเยื่อกระดาษจากบริษัทซังโกสตีมชิม จำกัด การขนถ่ายสินค้าที่พิพาท คดีนี้อยู่ในความควบคุมดูแลและตรวจสอบของบริษัทเอเซีย มารีไทม์ เอเยนซี จำกัดโดยตลอด นายประจวบ ช่างโทรเลข ผู้ทำหน้าที่โฟร์แมนหรือผู้ดูแลรับผิดชอบการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือบาฮาม่าสตาร์ของบริษัทรับจ้างทำสตีวีโดร์ก็เบิกความยืนยันว่าไม่มีคนงานของจำเลยที่ 1เข้ามาเกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้า นอกจากนี้เมื่อได้ตรวจดูหนังสือจ้างทำสตีวีโดร์การขนถ่ายเยื่อกระดาษ เอกสารหมาย จ.50 ก็ปรากฏว่าบริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด ผู้ขนส่งสินค้าเยื่อกระดาษเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทเอเซียมารีไทม์ เอเยนซี จำกัด โดยตรง ให้เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าเยื่อกระดาษจากเรือบาฮาม่าสตาร์ ในราคาอัตราค่าจ้าง 1.75เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อเมตริกตัน ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เชื่อถือได้มากกว่าคดีรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขนสินค้าหรือร่วมขนสินค้าเยื่อกระดาษจากเรือบาฮาม่าสตาร์ลงเรือเล็ก ลำพังแต่การดำเนินการทางเอกสาร หรือปฏิบัติพิธีการเกี่ยวกับการนำเรือเข้าเทียบท่าในราชอาณาจักร หรือแจ้งกำหนดเวลาเรือเข้าต่อกรมศุลกากร หรือแจ้งต่อเจ้าของสินค้า รวมถึงกำหนดวันขนถ่ายสินค้า ตลอดจนวิธีการที่แจ้งให้เจ้าของสินค้านำใบตราส่งไปแลกกับใบปล่อยสินค้าจากนายเรือตามทางปฏิบัติของการขนส่งทางทะเลนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งร่วมกับบริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด และผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 648/2532 ระหว่าง บริษัทนิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ จำกัด โจทก์ บริษัทแองโกลไทยบริการ จำกัด จำเลยคำพิพากษาฎีกาที่ 713/2532 ระหว่างบริษัทนิวซีแลนด์อินชัวรันซ์จำกัด โจทก์ บริษัทดีทแฮล์มอินเตอร์เนชั่นแนลทรานสปอร์ตเซอร์วิสเซส จำกัด จำเลย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิจากเจ้าของสินค้าผู้เอาประกันภัยเรียกเอาค่าเสียหายในกรณีที่สินค้าเยื่อกระดาษสูญหายหรือบุบสลายในระหว่างการขนส่ง ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้ออื่นที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 หรือ ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เพิ่มขึ้นก็ล้วนแต่เป็นข้อฎีกาที่สืบเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสินค้าในระหว่างการขนส่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเสียแล้ว ข้อฎีกาเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป และไม่จำต้องวินิจฉัยให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.